[article] 6 เกร็ดความรู้ประเพณีสงกรานต์ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

 
 
 
6 เกร็ดความรู้ประเพณีสงกรานต์
(ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน)

 

        ใกล้เข้ามาแล้วเดือนเมษายน ที่ใครหลาย ๆ คนคงกำลังคิดถึงวันหยุดยาวประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั้นก็คือ วันสงกรานต์ อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นวันที่ถือได้ว่าเป็นวันแห่งความสุขเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากเราจะได้สาดน้ำเล่นกันคลายร้อน แถมยังได้หยุดยาวต่อเนื่อง 3-5 วันกันเลยทีเดียว ซึ่งคนส่วนใหญ่ใน เทศกาลสงกรานต์เช่นนี้ ก็จะร่วมกันทำบุญร่วมกันในครอบครัว ไหว้ผู้สูงอายุ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต และเล่นน้ำกันในสถานที่ต่าง ๆอีกด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วทุกคนก็ต่างรู้จักประเพณีวันสงกรานต์กันอยู่แล้วแน่นอน วันนี้จึงขอแบ่งปันเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ให้ทุกคนได้รู้จักกับประเพณีวันสงกรานต์กันให้มากขึ้น


1. ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ
โดยทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกโดยเฉพาะดังนี้

– 13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ : เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ (วันผู้สูงอายุแห่งชาติ)
– 14 เมษายน วันเนา : เป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้วสู่ราศีเมษ (วันครอบครัว)
– 15 เมษายน วันเถลิงศก : เป็นวันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่


2. สงกรานต์เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณคู่กับประเพณีตรุษ เลยมีการเรียกรวมกันว่า “ประเพณีตรุษสงกรานต์” เป็นประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ก่อนที่ได้เปลี่ยนมาใช้วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่าแทน แล้วใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2483 ให้เหมือนกับประเทศอื่น ๆ

 


3. คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํ-กรานต” ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือผ่าวผ่าน โดยมีนัยความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่นั้นเอง

4. วันที่ 14 เมษายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” เพื่อส่งเสริมให้เป็นวันที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดสงกรานต์จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนจะได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว

 


5. สงกรานต์ไม่ใช่ประเพณีของชาวไทยเพียงชาติเดียว แต่เป็นประเพณีที่มีการฉลองในอีกหลายประเทศในเอเชียได้แก่ ประเทศลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไทยแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย 

6.  กิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นมีหลายอย่าง เช่น ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป และ กิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนนั้นเมื่อทุกคนเข้าวัด แล้วเวลาเดินออกจากวันก็มีเม็ดทรายที่ติดเท้าออกไปด้วย ดังนั้นกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทรายจึงเปรียบดังการขนทรายกลับเข้าวัดเพื่อเป็นเติมเต็มทรายที่หายไป



      จริงแท้แล้วนั้นประเพณีสงกรานต์ไม่ใช่เพียงแค่การสาดน้ำใส่กันเหมือนอย่างทุกวันนี้ตามประเพณีดังเดิมนั้นจะมีการรดน้ำให้แก่กันเพื่อความชุ่มฉ่ำ เป็นวันที่ลูกหลานได้กลับบ้าน  มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและแสดงกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ และยังมีพิธีการสรงน้ำพระเพื่อความสิริมงคล ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุขอีกด้วย

 

*********
สนใจติดตามข้อมูล อ่านต่อได้ที่ 
https://www.facebook.com/Pantae.fan


อ้างอิงจาก : blog.amari

 

กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Reporter
บทความโดยทีมงาน พันธุ์แท้.com

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles