[article] สงกรานต์ในต่างแดน เทศกาลสงกรานต์ ไม่ได้มีแค่เมืองไทย

 
 
 

“สงกรานต์ในต่างแดน”
เทศกาลสงกรานต์ ไม่ได้มีแค่เมืองไทย


 
       หากพูดถึงเทศกาลสงกรานต์ คนทั่วโลกต่างรู้กันดีว่าเป็นเทศกาลของประเทศไทยที่มีมาช้านาน แต่หารู้ไม่ว่าไม่ได้มีแค่ในเมืองไทยเท่านั้น ต่างประเทศอีกหลายประเทศก็มีเทศกาลสงกรานต์เช่นกัน  ซึ่งอันที่จริงแล้ว หากจะบอกว่า “สงกรานต์” เป็นของคนไทยเท่านั้น เห็นจะไม่ถูกต้องเท่าที่ควร เนื่องจากสงกรานต์ที่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยนั้น เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ร่วมกันในกลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์ที่นับถือพระพุทธศาสนา อาทิ ลาว เขมร มอญ พม่า รวมไปถึงลังกา และสิบสองปันนาในประเทศจีนด้วย  มาดูกันดีกว่าว่ามีประเทศไหนในโลกที่เล่นสงกรานต์เหมือนกับเราบ้าง


 
เทศกาลโฮลี Holi Festival เทศกาลแห่งสีสันที่อินเดีย

     (ภาพ : themysteriousindia)
 

       เทศกาลโฮลี เป็นเทศกาลของชาวฮินดูซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ปีละสองวันในช่วงเดือนมีนาคม เทศกาลนี้เรียกอีกอย่างว่า “เทศกาลแห่งสีสัน” โดยทุกคนจะสาดผงสีใส่กันอย่างสนุกสนาน หรืออาจจะสาดน้ำใส่กัน คล้ายๆ สงกรานต์บ้านเรา รูปแบบของการเฉลิมฉลองเทศกาลโฮลีนี้เทียบได้กับสงกรานต์ของไทย คือมีการสาดน้ำใส่กันแต่เป็นน้ำที่ผสมสีสันต่างๆ  บ้างก็ไม่ใช้น้ำ แต่ใช้ผงสีซัดใส่กันหรือป้ายหน้าป้ายตัวกันอย่างสนุกสนาน  นิยมเล่นกันในเวลาเช้าถึงเที่ยงวันก็เลิก ต่างคนต่างกลับบ้านไปอาบน้ำและพักผ่อน พอตกตอนเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน แจกขนมหวานและสวมกอดกัน เทศกาลโฮลี่จึงถือเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ มิตรสหายได้แสดงไมตรีเข้าสวมกอดกัน  ผู้ที่เคยขัดแย้งกันก็จะได้ปรับความเข้าใจและคืนสู่มิตรภาพนั่นเอง
       ด้วยความเก่าแก่ของอารยธรรมอินเดีย และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้เทศกาลโฮลี ถูกเชื่อมโยงกับตำนานต่างๆ มากมาย เช่น เรื่องการเผานางโหลิกา น้องสาวของอสูรหิรัณยกศิปุ ในตำนานนารายณ์อวตารเป็นนรสิงห์, เรื่องการเล่นโฮลีอย่างสนุกสนานระหว่างพระกฤษณะกับนางโคปีทั้งหลาย เป็นต้น ดังนั้นในคืนก่อนวันโฮลีตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ จะรวมกลุ่มกันจัดพิธีเผานางโหลิกา เพื่อพิธีเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า การทำร้ายเบียดเบียนกันในสังคม ตลอดจนความชั่วร้ายต่างๆ จะถูกเผาทำลายไป ธรรมะมีชัยชนะเหนืออธรรม


 

สงกรานต์หลวงพระบาง ประเทศลาว

(ภาพ : louangprabang )
 

      "สงกรานต์หลวงพระบาง" ใน สปป.ลาว ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานสงกรานต์แห่งอุษาคเนย์ที่ยังคงรักษารูปแบบประเพณีดั้งเดิมที่งดงามด้วยขนบธรรมเนียมและวิถีอันเรียบง่ายแต่คลาสสิกของชาวลาวไว้ เมืองหลวงพระบาง เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของ สปป.ลาว ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2538 ทุกๆ ปีในช่วงสงกรานต์ เมืองหลวงพระบางจะคึกคักมีชีวิตชีวาไปด้วยบรรยากาศของงานบุญปีใหม่ ชาวลาวที่เดินทางไปทำงานหรือไปอาศัยอยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็จะพาลูกหลานกลับมาหาญาติพี่น้อง กลับมาร่วมงานบุญกันพร้อมหน้าพร้อมตา อีกทั้งบรรดานักท่องเที่ยวจากต่างแดนก็เดินทางเข้ามาร่วมสัมผัสประเพณีดีงามในเมืองหลวงพระบางเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน 

“สงกรานต์ลาว” จะแบ่งการจัดงานหลักๆ ออกเป็น 3 วัน

- วันแรกเรียกว่า “วันสังขารล่วง” ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา
- วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” ถือเป็นวันแห่งครอบครัว เพราะญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส
- วันสุดท้ายเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่งนางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวอีกด้วย


 

เหย่บะแวด่อ ประเทศพม่า


(ภาพ : Montfort College Primary Section)


       สงกรานต์ของประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่า ที่มีประเพณีขึ้นปีใหม่พร้อมเล่นสาดน้ำเช่นเดียวกับประเทศไทย เพียงแต่ที่พม่าไม่ได้เรียกว่า "สงกรานต์" แต่เรียกเป็นภาษาพม่าได้หลายคำ เช่น ตะจังบะแว ,ตะจังบะแวด่อ หรือ เหย่ตะเบง ที่แปลรวม ๆ กันว่า "พิธีหรือเทศกาลน้ำ" ซึ่งบรรยากาศก็คล้าย ๆ กับการร่วมชมคอนเสิร์ต ผิดก็แต่งานนี้ทุกคนโดนสาดน้ำจนเปียก บรรยากาศสงกรานต์ในพม่าดูจะสนุกสนานกันเต็มที่ โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ตามถนนจะมีปะรำสำหรับการแสดงดนตรี ร้องรำ และเล่นสาดน้ำ ซึ่งส่วนงานราชการต่าง ๆ จะสร้างปะรำพิธี เพื่อให้ประชาชนเล่นน้ำและดูการแสดง โดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติจะแพร่ภาพและเปิดเพลงสงกรานต์ครึกครื้นตลอดวัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำปะรำพิธีต่าง ๆ จะเดินสายยางฉีดน้ำไปยังผู้คนที่ผ่านไปมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น ทั้งนี้ แม้พม่าจะนิยมเล่นน้ำสงกรานต์แต่ก็ยกเว้นที่จะไม่สาดน้ำพระสงฆ์ ชี โยคี และผู้ถืออุโบสถศีล และผู้หญิงตั้งครรภ์  ประเพณีนี้จัดขึ้นทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี โดยตลอดระยะเวลาของงานทั้งสิ้น 4 วัน ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายนของทุกปี


โจลชนัมทเมย ประเทศกัมพูชา


(ภาพ : thaismescenter)
 

       เทศกาลสงกรานต์กัมพูชา คือวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชา เป็นประเพณีโบราณเรียกกันว่า “โจลชนัมทเมย” จะจัดขึ้นในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว  ซึ่งแต่เดิมจัดตามจันทรคติ ต่อมาได้มีการเลื่อนไปจัดตามวันทางสุริยคติ ประมาณวันที่ 13 หรือ 14 เมษายน ปกติการเฉลิมฉลองปีใหม่ในเขมรนี้จะจัดขึ้น 3 วัน ในวันแรกเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์ หรือวันปีใหม่”แต่ก่อนจะถึงวันปีใหม่ 3 วัน ทุกบ้านจะต้องจัดเตรียมอาหารและทำความสะอาดบ้านเรือน แต่งตัวด้วยดอกไม้และเครื่องหอม จัดโต๊ะบูชา
- สำหรับวันแรก ช่วงเช้าจะนำอาหารไปถวายพระ ช่วงเย็นจะมีการช่วยกันขนทรายเข้าวัด ช่วงหัวค่ำจะมีการช่วยกันก่อเจดีย์ทราย และเติมน้ำในตุ่มที่วัดให้เต็ม
- วันที่สอง คือ วันครอบครัว พ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน อาจจะมีการให้ของขวัญกันเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ด้วย
- ส่วนวันที่สาม คือ วันเริ่มต้นศกใหม่ หรือเป็นวันเปิดศักราชใหม่ ช่วงเช้าจะนิมนต์พระมาสวดให้พร นอกจากนั้นยังมีการสรงน้ำพระพุทธรูปโดยใช้น้ำอบมาชำระล้างพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการละเล่นต่างๆ บริเวณวัด เช่น วิ่งกระสอบ เล่นลูกช่วง สะบ้า มอญซ่อนผ้า ฯลฯ


 

สิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน


(ภาพ : TourTookTee.com)

       เป็นประเพณีสงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน จะจัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล พัวสุ่ยเจี๋ย มี การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ การแข่งขันเรือมังกรที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ การระบำนกยูง ร้องรำทำเพลง การละเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน เชื่อว่าจะเป็นการชะล้างสิ่งไม่ดีออกไปจากตัว
 

 "Wet Monday" สงกรานต์หลังวันอีสเตอร์  ประเทศโปแลนด์

(ภาพ : gonomad.com )
 

       นอกจากงานสงกรานต์จะจัดขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีประเทศในแถบยุโรป ที่มีประเพณีสาดน้ำคล้ายๆ กับในบ้านเราเช่นกัน ประเพณีมีชื่อเรียกว่า “Wet Monday” เป็นประเพณีเก่าแก่ทางศาสนาที่นิยมจัดขึ้นในแถบยุโรปกลาง โดยเฉพาะในโปแลนด์ เช็ค สโลวาเกีย และยูเครน ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันที่สองของเทศกาลอีสเตอร์ โดยจัดขึ้นตามความเชื่อของผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อน โดยจะใช้น้ำเป็นการชำระล้างบาปเพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง เดิมนั้นประเพณี Wet Monday จะมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เป็นฝ่ายสาดน้ำใส่ผู้หญิง โดยผู้หญิงที่สวยที่สุดในหมู่บ้านจะถูกรุมสาดน้ำจนเปียกปอนมากที่สุด

-----

       ปัจจุบันนี้ หากพูดถึงเทศกาลสงกรานต์ หรือ Water Festival คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงสงกรานต์ที่ประเทศไทยเป็นที่แรก เนื่องจากมีการโปรโมทกันมากมาย และพยายามยกระดับให้เป็นงานอีเวนท์ระดับโลก จนคนไทยหลายๆ คน ลืมไปแล้วว่า “สงกรานต์” เป็นประเพณีร่วมกันของคนที่มีความนับถือพระพุทธศาสนา และอาศัยอยู่ในแถบอาเซียนเช่นเดียวกัน การจะไปทึกทักว่าสงกรานต์เป็นของประเทศไทยเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก ความเข้าใจถึงที่มาและความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ต่างหาก ที่จะช่วยให้เราและเพื่อนบ้านอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์
 

*********
สนใจติดตามข้อมูล อ่านต่อได้ที่ 
https://www.facebook.com/Pantae.fan

อ้างอิงจาก : songkransite

 





 
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Reporter
บทความโดยทีมงาน พันธุ์แท้.com

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles