[review] ไปกัน! ทัศนศึกษาที่โรงงานเต้าหู้ Umenohana

 
 
 
     ด็กๆเมย์เคยอ่านหนังสือเรื่องเกี่ยวกับการทำเอาน้ำเต้าหู้มาทำเป็นเต้าหู้ก้อนๆ ก็เก็บความสงสัยนั้นมาตลอดจนกระทั่งโต .. ใครที่เคยสงสัยเหมือนเมย์ว่าน้ำเต้าหู้กลายเป็นก้อนเต้าหู้ได้ยังไง .. ลองไปดูตรงนี้เลยนะคะ

     จนกระทั่งไม่นานนี้ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่โรงงานเต้าหู้ของอุเมะโนะฮานะก็รีบตกลงจะไปทันทีเลย เพราะทราบว่าโรงงานไม่ใช่ที่ที่คนปกติจะเข้าไปได้ง่ายๆ เพราะมีทั้งเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยรวมถึงมาตรการต่างๆ

แล้วในโรงงานทำเต้าหู้มันหน้าตาเป็นยังไงนะ ?

 

ก่อนอื่นเลย เราเดินทางไปที่โรงงานเต้าหู้ แล้วก็รักษาความสะอาดกันตั้งแต่หน้าประตูเลยค่ะ ต้องถอดรองเท้าแล้วก็เปลี่ยนเป็นรองเท้าที่อยู่ในโรงงานค่ะ
 


หลังจากบรีฟเล็กน้อย ก็มาแต่งตัวค่ะ ต้องคลุมหมดเลย ไม่ให้ผมเผ้าหลุดออกมาด้วยค่ะ รองเท้าก็ต้องห่อด้วยค่ะ แล้วก็ล้างมือเวอร์ชั่นถูซอกเล็บ ซอกนิ้วและข้อมือเอาให้เอี่ยมเลยนะคะ เดี๋ยวจะต้องไปเจอกับอาหารแล้ว

 


ยังค่ะ ยัง ถึงขนาดนี้ยังเปิดประตูเข้าไปง่ายๆไม่ได้ เรายังต้องเข้าไปห้องเป่าลมให้เฝุ่นออกจากตัวให้มากที่สุดด้วยนะคะ วันนี้สะอาดเอี่ยมๆเลย เอี่ยมขนาดนี้ผ่านค่ะ เข้าไปดูโรงงานแล้วหล่ะนตื่นเต้นๆ

 



เข้าไปแล้วได้กลิ่นถั่วเหลืองเลย โรงงานทำเต้าหู้นี่เนอะ ก่อนที่เราจะไปดูเค้าทำเต้าหู้ และน้ำเต้าหู้ ก็ไปดูวิธีการเตรียมเต้าหู้ก่อนเลยค่ะ ที่นี่มีทั้งเต้าหู้ไทย และเต้าหู้ญี่ปุ่นค่ะ แม้การทำเต้าหู้จะมีหลักการง่ายๆว่าใช้เกลือบางอย่าง (เกลือในโลกนี้มีหลายอย่างมากเลยค่ะ ไม่ใช่แค่เกลือแกงทำกับข้าว) มาใส่ในน้ำเต้าหู้เพื่อให้ตกตะกอนและเป็นก้อนแข็ง แต่เต้าหู้ที่อร่อยๆก็มีสูตรลับหลายอย่างนะคะ ทั้งพันธุ์เต้าหู้ก็มีระดับโปรตีน คาร์โบไฮเดรตที่ต่างกัน ดีเกลือที่ใช้ก็มีส่วนผสมที่ต่างกันก็มีผลกับความนุ่มนิ่มของเต้าหู้อีกด้วยค่ะ
 

อย่างที่นี่ ก็ต้องแช่ถั่วในน้ำเย็นเจี๊ยบๆ 5องศา ในห้องเย้นเย็น เป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนจะนำมาใช้ได้นะคะ เข้าไปซักพักก็หนาวแล้วค่ะ มีทั้งถั่วไทยและถั่วญี่ปุ่น ซึ่งก็จะใช้ทำเต้าหู้ที่แตกต่างกันค่ะ
 

ถั่วเหลืองไทย                         ถั่วเหลืองญี่ปุ่น


ถั่วเหลืองไทยของเราให้โปรตีน ที่สูงและหวานน้อยกว่าถั่วเหลืองญี่ปุ่นค่ะ ดังนั้น เวลาจะทำเต้าหู้ให้รสออกมาคล้ายกัน ส่วนผสมของดีเกลือจะแตกต่างกัน น้ำเต้าหู้จากถั่วเหลืองญี่ปุ่นจะถูกส่งไปยังร้านอาหารอุเมะโนะฮานะ ส่วนถั่วเหลืองไทยจะนำมาผลิตเต้าหู้เพื่อขายตามห้างค่ะ

 

และนี่ก็คือถั่วเหลืองไทยหลังจากที่แช่ได้ที่แล้วค่ะ



 

     หลังจากที่แช่ถั่วได้ที่แล้ว เราก็มาทำน้ำเต้าหู้กันค่ะ น้ำเต้าหู้ก็คือน้ำถั่วเหลืองสุกคั้นนั่นเอง ก็จะคั้นก็ต้องบดให้ถั่วละเอียดซะหน่อย แล้วก็เอาถั่วบดมาทำน้ำเต้าหู้ค่ะ น้ำเต้าหู้ร้อนจี๋ๆ ก็ไหลผ่านเครื่องจักรมา แยกกากให้เรียบร้อยเลย
 


และเพื่อความสะอาดเป็นพิเศษ ที่นี่จะยอมเสียเวลาล้างเครื่องบดทุกครั้งที่บดถั่วเสร็จเลยค่ะ ของที่จะเข้าปากเรา คุณภาพต้องดี จริงไหมคะ

ว่าแล้วก็เอาน้ำ RO มาล้างเครื่องบดซะหน่อย



 

 

แล้วน้ำเต้าหู้สดๆใหม่ๆก็ออกมาจากเตา .. ควันฉุยๆเลยค่ะ ส่วนหนึ่งจะถูกนำเอามาต้มจนกระทั่งฟองเต้าหู้ลอยขึ้นมาเป็นแผ่นๆ เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่ายูบะ ช้อนขึ้นมาแล้วตากเอาไว้ ให้น้ำเต้าหู้หยดๆลงมาค่ะ น้ำเต้าหู้ถาดนึง ทำฟองเต้าหู้ได้ประมาณ 7 รอบนะคะ หลังจากนั้นฟองเต้าหู้ก็ขึ้นน้อยแล้วค่ะ
 


      มาถึงส่วนทำเต้าหู้กันบ้าง น้ำเต้าหู้ร้อนๆจะถูกผสมกับดีเกลือที่มีส่วนผสมเฉพาะ เพื่อให้เข้ากันได้กับปริมาณโปรตีนและสารอาหารที่มีในนมถั่วเหลือง ใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที เต้าหู้ก็เซ็ทตัวแล้วค่ะ เวลาทำต้องเร็วและใช้ความชำนาญน่าดูเลย 
 


หลังจากนั้นก็เอาแผ่นสแตนเลสมาปิดอีกประมาณ 5 นาทีก็เกือบจะทานได้แล้วค่ะ ทาดีเกลือที่ผิวหน้าอีกนิดนึง ให้เต้าหู้ที่นิ่มมากๆทรงรูปได้ในกล่องโดยไม่แตกง่ายค่ะ และเต้าหู้ที่นี่ก็นิ่มมากจริงๆด้วย


และมาถึงฝีมือผู้ชำนาญการ หนึ่งในพระเอกของวัน.. พนักงานตัดเต้าหู้ค่ะ ตัดเต้าหู้ในน้ำเพื่อป้องกันการแตกของเต้าหู้ และต้องตัดเบาๆ ระหว่างตัดก็ต้องเช็คคุณภาพของเต้าหู้ไปด้วย ว่าแข็งนิ่มพอดีหรือเปล่าเป็นการตรวจสอบขั้นสุดท้ายก่อนจะใส่กล่องค่ะ

พอใส่กล่องแล้วก็ไปแช่น้ำเย็นเจี๊ยบเพื่อรักษาคุณภาพของเต้าหู้ก่อนนำส่งค่ะ
 


หลังจากได้ชมโรงงานเต้าหู้แล้ว รู้สึกว่าระบบกระบวนการโรงงานนี่เหมือนกับครัวใหญ่ๆเลยค่ะ อุปกรณ์ต่างๆก็มาเพื่อช่วยให้ต้ม ล้าง แช่เย็นได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่วิธีทำยังคงเป็นการทำเต้าหู้สไตล์โฮมเมดอยู่เลยค่ะ พอเราชมกันจนจบแล้ว .. คุณโอกาวะซัง ผู้จัดการโรงงานก็ตัดสินใจนำเต้าหู้สดใหม่เพิ่งทำเสร็จมาให้เราชิมกันในโรงงานเลย .. อาริงาโตะ!
 

พอชมโรงงานเสร็จแล้ว เราก็ลองมาชิมนมถั่วเหลืองกับฟองเต้าหู้กัน .. ของมาจากโรงงานเลยค่ะ แต่ที่เพิ่มเติมคือ ดาชิ โชยุ เอาจริงๆไม่ใส่โชยุก็จะได้กลิ่นหอมของถั่วแล้วค่ะ พอใส่โชยุก็จะได้รสเค็มๆกับกลิ่นปลาโอเข้ากันทีเดียวค่ะ ฟองเต้าหู้ราดน้ำเต้าหู้ลงไปเพิ่มอีกหน่อย จะได้นัวกว่าเดิม
 

 
 \*/ \*/ \*/ \*/ \*/ \*/ \*/ \*/ \*/ \*/ \*/ \*/ \*/
 

เอาหล่ะ เราไปชมโรงงานสนุกกันมากแล้ว คราวนี้ลองมาชิมอาหารของอุเมโนะฮานะกันบ้างนะคะ เราเดินทางต่อไปที่ร้านอาหารอุเมโนะฮานะที่ทองหล่อ ซ.13

 

อาหารชุดแรกที่ชิมกันเลยคือ ฟองเต้าหู้ค่ะ หลังจากที่ไปดูโรงงานทำแล้ว ลองมาทำกันเองบ้างค่ะ ตอนแซะฟองเต้าหู้ออกจากขอบหม้อนี่ง่ายนะคะ แต่เวลาคีบแล้วก็ลี่นหลุดตะเกียบทู้กที ไม่เป็นไร ในที่สุดความพยายามเราก็สำเร็จค่ะ

กินฟองเต้าหู้กับโชยุแล้วเปลือกส้มยูสุ หอมส้มมากๆเลยค่ะ เอาจริงๆ ส้มยูสุ กินกับอะไรก็อร่อยค่ะ ..ชอบเอามากๆเลย

 

แต่เมนูที่เมย์ชอบสุดๆคือ “ไข่ตุ๋น” กรี๊ดมากๆ อร่อยจะอยากสั่งซ้ำอีก 3 รอบ เป็นเมนูพื้นๆแต่ประทับใจความหอมนุ่มเนียนจริงๆค่ะ
 


วันนั้นกินอิ่มกันจนพุงกางกันเลยทีเดียว เน้นๆเมนูเต้าหู้ซะเยอะเลยค่ะ เวลาที่เรารู้จักอาหารเรามากขึ้น เวลากินก็จะอร่อยขึ้นด้วย .. ว่ามั๊ยคะ ?

ติดตามคุยกันในเพจได้ที่นี่
 

พูดคุยเป็นการส่วนตัว ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ ความรู้ตัวได้ที่ @krumay



กรอกข้อมูลเพื่อรับข้อมูลมีประโยชน์ได้ที่นี่ คลิ๊กเลย

กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : ครูเมย์ KruMayExplorer
ครูเมย์เชื่อว่า ความรู้ ไม่ได้สำคัญที่สุดในการเรียนหนังสือ มนุษย์คนนึงจะรู้ได้ซักเท่าไหร่กัน เมื่อเทียบกับความรู้ของโลกนี้ที่มีอยู่ อัจฉริยะไอน์สไตน์ จะรู้ได้ถึง 1% ของความรู้ในโลกนี้ไหม
วิทยาการพัฒนาไปไกลมาก เปลี่ยนไปเยอะมาก ตอนนี้ มันเป็นโลกของการแบ่งปัน - แบ่งกัน ความขี้สงสัย กับ ความเอื้ออาทรต่างหาก ที่พาให้โลกหมุนไปได้ ติดตามมาคุยกันได้ที่เพจ www.facebook.com/KruMayExplorer

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles