[article] โรงเรียนเล่นสนุก (มีหรือไม่?) ตอนที่ 1

 
 
 
สวัสดีคะ

ตอนนี้น้องกำลังจะครบ 2 ขวบในอีกไม่นานนี้ เกดก็เลยเริ่มมองหาโรงเรียนสำหรับ “Nursery” จนถึงอนุบาลสำหรับน้อง และเมื่อเป็นลูกคนแรกเราจึงอยากจะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้เขา เพราะเกดยังไม่มีประสบการณ์  จึงไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้ว่าอะไรคือ "ดีที่สุด"
คำถามแรกที่เจอ (โดนถาม) และเกดก็คิดอยู่ในใจเหมือนกันคือ
"เร็วไปมั้ย สำหรับเด็ก 2 ขวบที่ต้องเริ่มไปเผชิญโลกภายนอกและต้องเริ่ม “เรียน”?"

เกดไม่อยากจะตัดสินใจอะไรจากคำพูดของคนรอบข้างหรือจากความคิดของตัวเอง  โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาและเข้าใจถึงความหมายและความสำคัญของคำว่า "เรียน" สำหรับเด็ก
ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่าน ชอบค้นคว้า เลยไปศึกษาหาข้อมูลทางอินเตอร์เนท เลือกอ่านงานวิจัยต่างๆของต่างประเทศ  รายงานข่าวจากนอกและในประเทศ  เพจของคุณหมอหลายๆท่าน และได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนเพื่อพูดคุยกับครูใหญ่ของโรงเรียนนั้นๆ

จากการที่อ่านมาหลายๆบทความ เกดสรุปได้ว่า
1. ผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่านออกมาชี้แจงว่า ช่วงวัย 1-3 ขวบ เด็กไม่ต้องการอะไรมาก นอกจากการที่ได้อยู่กับพ่อแม่ เป็น Golden Time หรือนาทีทองในการสร้างสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นภายในครอบครัว และสร้างความเป็นตัวตนที่แข็งแรงและสมบูรณ์
 

2. เด็กเริ่มเรียนรู้จากการเล่นเท่านั้น ตัวเด็กเองไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังเรียนรู้อยู่ เพราะพวกเขามัวแต่สนใจและสนุกกับการเล่นอยู่ตอนนั้น การเล่นอย่างสนุกเป็นประโยชน์แก่ตัวเด็กในระยะสั้นและระยะยาว การเล่นก่อให้เกิดพัฒนาการทางด้านกายภาพการรับรู้ ทักษะการเข้าสังคม และรู้จักอารมณ์ต่างๆ  เมื่อไหร่ที่การเล่นนั้นแสนสนุกและมาจากตัวเด็กเอง เด็กก็จะเกิดความกระตือรือร้นในสิ่งๆนั้น ทำให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้
(โอ้โห....อ่านมาถึงจุดนี้ ไม่เคยรู้เลยว่าการปล่อยให้ลูกเราเล่นนั้นดีแบบนี้นี่เอง)
 

3. เด็กไม่ควรจะถูกจับไปอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ผนังกำแพงที่มีแต่ตารางตัวอักษรหรือตัวเลข กฎของห้องเรียน  ปฏิทิน  ตารางการสอน  หรือการที่เด็กต้องโดนบังคับให้นั่งบนโต๊ะ เพื่อเน้นเรียนวิชาการ ให้อ่านออกและเขียนหนังสือตัวอักษร ABC หรือ กขค  

4. ปัญหาในการจัดการการศึกษาของโรงเรียนสมัยนี้ ที่การแข่งขันสูง(มาก) มีค่านิยมทางสังคมว่า เด็กควรจะต้องเริ่มพร้อมให้ได้เร็วที่สุด ใครอ่านได้ก่อนจะได้รับคำชม ถือว่าฉลาด ใครเขียนได้ตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาลนี่อัจฉริยะชัดๆ ตอนนี้อนุบาลทำหน้าที่เป็น “ประตูรั้วกั้น (Gatekeeper)” ให้เด็กต้องข้ามไปก่อนที่จะไปชั้นประถม  แทนที่ควรจะเป็นเพียง “พรมต้อนรับ (Welcome mat)”   ดังนั้นจึงมีความคาดหวังเพิ่มขึ้นว่า น้องๆจะต้องมีการเตรียมพร้อมที่เร็วขึ้น สามารถเริ่มอ่านหนังสือออก และสามารถนั่งอ่าน จับดินสอเขียนหนังสือบนโต๊ะได้เอง หลังจากจบอนุบาล

5. แต่การเร่งรีบนี้ เป็นการเร่งรีบที่เกินวัย ทำให้เด็กไม่ได้โอกาสในการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาว
และสุดท้าย เด็กๆก็จะลดทอนความสนใจในการเรียนรู้ในระยะยาว ศักยภาพทางสมองก็ไม่ได้ถูกกระตุ้นเต็มที่ อาจจะเห็นเด็กบางคนที่เริ่มเรียนอ่านเขียนตอนอนุบาลหรือตั้งแต่เตรียมอนุบาล ดูมีทักษะความพร้อมในห้องเรียนตอน ป. 1 หรือ ป. 2 มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการเตรียมตัวมา แต่พบว่า เมื่อเวลาผ่านไป เด็กที่เริ่มเรียนวิชาการเร็วจะหมดความสนใจในห้องเรียนและการไปโรงเรียนอาจจะไม่ใช่เรื่องสนุกอีกต่อไป และเมื่อวัดผลกันทางการสอบ คะแนนทางด้านภาษาหรือเลขนั้นต่ำกว่าเด็กที่เริ่มเรียนช้ากว่า
 
(เห็นภาพนี้แล้วสะท้อนใจมากๆๆ ไม่อยากให้เป็นรูปลูกตัวเอง ที่นั่งเหม่อลอยคิดถึงแต่เวลาพัก เลิกเรียน หรือคิดถึงสนามเด็กเล่น)

6. ตอนนี้มีกระแสแรงมากๆ เกี่ยวกับระบบการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาอันดับ 1 ของโลก  เราลองมาดูกันว่าเค้าจัดระบบการศึกษาอย่างไร
     6.1 ประเทศฟินแลนด์ให้เด็กเริ่มเรียน Preschool เมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ และเริ่มเข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 7 ขวบ แต่เมื่อมีการสอบระดับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment (PISA)) ในเด็กอายุ 15 ปี จาก 65 ประเทศ พบว่า เด็กจากประเทศฟินแลนด์ได้คะแนนในระดับสูงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
     6.2 เนื่องจากประเทศฟินแลนด์มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็ก คำนึงว่าเด็กคือทรัพย์สินของประเทศชาติ จึงทำให้ระบบการศึกษาเป็นเรื่องของวาระแห่งชาติ เป็นระบบที่วางครอบคลุมทั่วประเทศและเท่าเทียมกัน แทบจะไม่มีโรงเรียนเอกชน (ไม่มีการแยกโรงเรียนสำหรับคนรวยหรือคนจนโดยเฉพาะ) ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็จะเป็นโรงเรียนในระบบเหมือนกันทั้งหมด
    6.3 แทบจะไม่มีการสอบวัดผลระดับประเทศ เนื่องจากเป็นระบบการศึกษาที่เหมือนกันทั่วทั้งประเทศ จะมีเพียงการสอบของเด็กเพื่อดูความก้าวหน้าและให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทันท่วงที  
ระบบหลักสูตรการศึกษานี้ทำให้เด็กทุกคน (เน้นนะคะ เค้าลงลึกไปถึงระดับแต่ละบุคคล) ได้รับการดูแลและพัฒนาทักษะและศักยภาพอย่างเต็มที่
    6.4 คุณครูมีความเป็นอิสระและมีความเป็นตัวของตัวเอง จบการศึกษาสูงมีคุณวุติระดับปริญญาโท และอาชีพครูนั้นมีการแข่งขันสูงมาก เป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้การยอมรับอย่างมาก ครูทุกคนจะต้องมีความตั้งใจจริง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ครูได้รับการไว้วางใจในการทำงาน สามารถปฎิบัติตามหลักสูตรการศึกษาระดับชาติได้อย่างดี แม้ว่าในบางที่จะมีหลักสูตรระดับท้องถิ่นด้วยก็ตาม  
          ไม่มีการสอบสำหรับคุณครูเพื่อวัดประเมินความรู้ แต่มีระบบการฝึกอบรมเพิ่มเติมหลักจากได้บรรจุเป็นครูเรียบร้อยแล้ว


เกดอยากจะเน้นความประทับใจจากการอ่านบทสัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศฟินแลนด์
“วิชาการไม่ใช่ทุกสิ่งที่เด็กต้องการ เด็กต้องการมากกว่านั้น โรงเรียนควรจะเป็นสถานที่เราสอนถึงความหมายของการใช้ชีวิต เป็นที่ๆควรจะได้เรียนรู้ทักษะชุมชน (Community Skills) เราอยากจะคิดว่าโรงเรียนนั้นสำคัญสำหรับด้านการพัฒนาตัวตน (self) ที่ดี มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้อื่น และเข้าใจถึงความสำคัญของการดูแลกันและกัน เราอยากที่จะรวบรวมสิ่งเหล่านี้ไปเข้าไปในการศึกษา”
 
สุดยอดคะ ปรบมือรัวๆๆๆๆ
Cr. Kai Pfaffenbach / Reuters

ล้วเราจะทำอย่างไรหล่ะคะ ในประเทศที่เราอยู่ตอนนี้?? 
ที่ระบบการศึกษาและค่านิยมทางสังคมไม่ได้เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการที่จำเป็นของเด็ก
การสอบวัดประเมินที่มีกันอย่างแพร่หลายไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสามารถ ศักยภาพและทักษะที่แท้จริงในตัวเด็กเอง 
เด็กควรจะได้รับโอกาสในการเติบโตในแบบของเขา และได้รับการส่งเสริมในระดับตัวบุคคล (individual level) ที่เป็นประโยชน์เพื่ออนาคตที่เขาสามารถเลือกได้เอง

เกดจึงได้ไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องปรัญชาการศึกษาที่มีชื่อเสียงได้รับการพิสูจน์แล้วหรือ โรงเรียนทางเลือก (Alternative Schools) ซึ่งคาดว่าหลายๆครอบครัวคงรู้จักกันมาบ้าง
แต่...เกดขออนุญาตมาต่อในบทความ "โรงเรียนเล่นสนุก" (มีหรือไม่?) ตอนที่ 2 
ขอบคุณที่อ่านกันมาจนถึงตอนนี้คะ

ขอบคุณบทความและข้อมูลต่างๆจาก 
1. Facebook เพจนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
2. http://goo.gl/2WBsu6
3. http://goo.gl/PqBQ5a
4. http://goo.gl/RUcW44
5. https://goo.gl/B88s7A
6. http://goo.gl/pRnsVu


Cr. Photo:
Designed by Freepik
Designed by Freepik

ติดตามต่อกันได้ที่
www.facebook.com/MompreneurByGade
ฝากความเห็น ข้อคิดมุมมองใหม่ๆกันได้เลยนะคะ

ขอบคุณบทความดีๆจาก
www.letterplanet.com/blog/Mompreneur
 
Created date : 09-06-2016
Updated date : 09-06-2016
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Team

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles