[article] ครูตุ้ยบอกเล่า - ปั่นไปสอน

 
 
 

ในการสอนวิชา Environmental Policy เรื่องนึงที่ต้องพูดถึงคือ Sustainable Transportation นอกเหนือจากการจัดระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งหนึ่งที่เมืองดีๆ น่าอยู่ เช่น Copenhagen มักทำคือการให้ priority แก่คนที่สัญจรโดยใช้จักรยาน

ตัวผมเองรู้สึกผิดเล็กน้อยเพราะขับรถไปทำงานไปกลับวันละร่วม 50 กม. ผมตัดสินใจซื้อจักรยานเมื่อตอนต้นปีด้วยเหตุผล 3 ข้อ

1) ใช้ออกกำลังกาย (ในสวนสาธารณะหรือที่ๆ จัดไว้ให้ เช่น Sky Lane)

2) ใช้ขี่ไปสอนแทนการขับรถยนต์เพื่อลดมลพิษในวันที่เอื้ออำนวย
3) ให้ได้ประสบการณ์ตรงไปเล่าให้นักศึกษาฟัง

ตอนนี้ปั่นมา 5 เดือนแล้ว เมื่อเช้าปั่นมาสอนจากอโศกมาสามเสน จักรยานผมคล้ายๆ ในรูปนี่แหล่ะเพียงแต่คนขี่หล่อแบบไม่เสร็จดี และนี่คือสิ่งที่อยากเล่าให้อ่านกันครับ

‪ความปลอดภัย‬
ไม่มีเลย....ถนนบ้านเราไม่ได้ออกแบบมาเผื่อคนขี่จักรยาน เมื่อไหร่ที่ต้องมีการข้ามแยกหรือเบี่ยงตัดกระแสจราจรจะอันตรายมาก ตอนออกถนนครั้งแรกนี่โครตน่ากลัว พูดเลย หลายจุดมีออกแบบ bike lane ไว้แต่ก็ไม่มีประโยชน์ มีรถจอด มีคนขายของ เรื่องนี้โทษร้านค้าแถวนั้นอย่างเดียวไม่ได้ เพราะรัฐสักแต่ว่าทำแต่ไม่มีมาตรการรองรับแบบบูรณาการ ทำ bike lane แต่ไม่มีที่ให้เค้าจอดรถ ร้านค้าและคนมาซื้อของเค้าก็แหกกฎอยู่ดี ในส่วนที่ออกแบบไว้ดีก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเท่าที่ควร

‪จิตสำนึก‬
ทุกเทอมจะให้นักศึกษาหาเมืองที่มีระบบขนส่งที่ดีมา 3 เมือง แล้ววิเคราะห์ว่าเค้ามีองค์ประกอบอะไรบ้างที่เป็น Sustainable City สุดท้ายให้สรุปว่าจุดต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองเหล่านั้นคืออะไร เช่น infrastructure, สภาพอากาศ, สภาพภูมิประเทศ ฯลฯ

นักศักษามักตอบตรงกันว่าที่ต่างคือ 'คน'

จิตสำนึกเราแย่ลงตลอดเวลา เมื่อเช้าผ่านแยกหนึ่งติดไฟแดง ตอนแรกมีมอเตอร์ไซค์ จอดติดสิบกว่าคัน สุดท้ายเหลือแค่ 4 คันที่รอไฟเขียว บางคันไม่ได้ฝ่าไฟแดงช่วงว่างระหว่างไฟด้วยซ้ำ แต่ตัดกระแสจราจรไปเลย ไม่รู้จะผงกหัวขอทางไปทำไม ระหว่างทางยังเจอมอไซย้อนศรอีก บางคนผงกหัวขอทาง บางคันไม่สบตาแต่ผมยังรู้สึกว่าเค้าละอายอยู่ในใจเล็กน้อย แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรกับเรื่องพวกนี้เลย วันนึงจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ความรู้สึกผิดจะหายไป ทุกครั้งที่เจอรถย้อนศรแล้วเราต้องเบี่ยงหลบจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เราเอง

‪การใช้ทางร่วมกัน‬
ที่แย่คือหลายคนรู้สึกว่าจักรยานเป็นส่วนเกิน ลำพังไม่มีเลนจักรยานก็แย่แล้ว แต่รถบนท้องถนนก็ยังไม่ระวังจักรยานเท่าที่ควรด้วยต่อให้ขี่ชิดซ้ายก็แล้ว พวกเค้าไม่รู้ว่ายิ่งคนขี่จักรยานแทนการใช้รถมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งดีกับเค้าเอง อันนี้ไม่รวมถึงการขี่เพื่อออกกำลังกายบนท้องถนนหรือการเข้าไปขี่ในช่องทางด่วนที่ผมไม่สนับสนุน

‪ความสุขและสุขภาพ‬
จริงๆ การเดินทางด้วยจักรยานนี่ดีมาก รู้สึกเป็นอิสระ จะไปไหนก็ได้ ยิ่งถ้าได้จักรยานที่ชอบนี่เหมือนได้ของเล่นชิ้นโตเลย แต่เมื่อไม่มีความปลอดภัยในการขับขี่มันก็ไม่มีความสุขเท่าที่ควร เนื่องจากเราไม่มีเลนจักรยานและไม่มีไฟจราจรที่ให้ priority แก่จักรยานเช่น Green Wave ของ Copenhagen ทำให้คนขี่จักรยานต้องจอดติดไฟแดงไปด้วย แต่ด้วยความที่เราขี่จักรยานทำให้อัตราการหายใจเราสูงไปด้วยต้องสูดมลพิษมากกว่าปกติ ยิ่งถ้าต้องจอดต่อท้ายรถเมล์ด้วยแล้วนี่สุดจะบรรยาย ผมสงสัยว่าสุดท้ายแล้วการขี่จักรยานจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่

สุดท้ายนี้ผมยังเชื่อว่าการขี่จักรยานเป็นทางออกที่ดีในการช่วยแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ แต่เราต้องมีระบบการจัดการที่ดีเป็นองค์รวมและให้ความสำคัญกับมันมากกว่านี้ ไม่ต้องไปดูงานต่างประเทศหรอกครับ แค่นี้คนไทยคิดและออกแบบเองได้

กระแสมาซักพักแล้ว อย่าให้ตกไปครับ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้ดีเพื่อเมืองที่น่าอยู่ เพื่อตัวเองและลูกหลานของเรา

ขอบคุณครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

อ่านเรื่องราวดีๆ ในห้องเรียนเพิ่มเติม


Created date : 09-06-2016
Updated date : 09-06-2016
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Team

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles