[article] ครูตุ้ยแนะแนว - ซีรีย์: เรียนที่ไหนดี? (1/3)

 
 
 


ช่วงนี้เป็นฤดูการสอบเข้าเรียนต่อ เห็นเพจต่างๆ มีผู้ปกครองสอบถามกันมากว่าจะให้ลูกเรียนที่ไหนดี มีทุกระดับตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย ครูขอแชร์ความคิดเห็นจากมุมมองส่วนตัวและประสบการณ์ที่ได้พบมาครับ บทความพวกนี้มีเยอะในเน็ต สำคัญคือต้องรู้ที่มาผู้เขียนด้วยจะได้ทราบที่มาของมุมมอง (เกี่ยวกับผู้เขียนอยู่ในหมายเหตุด้านล่าง)

ตั้งใจจะเขียน 3 เรื่อง
1. หลักสูตรไทย Vs อินเตอร์ (ระดับมหาวิทยาลัย)
2. หลักสูตรไทย Vs EP Vs อินเตอร์ (ระดับมัธยม)
3. โรงเรียนเอกชนที่มีความหลากหลาย Vs โรงเรียนรัฐที่เน้นวิชาการ

เริ่มกันที่เรื่องแรกก่อน

หลักสูตรไทย Vs อินเตอร์ (ระดับมหาวิทยาลัย)

ด้านวิชาการ
- แกนกลางของหลักสูตรเหมือนกันอาจต่างกันที่วิชาเลือกและเงื่อนไขพิเศษ เช่น double degree, 2 + 2 ตามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ

- ก่อนเปิดหลักสูตรไม่ว่าจะไทยหรืออินเตอร์จะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาวิชาการของมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นหลักสูตรที่มีใบประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ เพราะงั้นถ้าเรียนวิศวะ สุดท้ายก็เป็นวิศวะเหมือนกัน

- จะไทยจะอินเตอร์ อาจารย์ใช้ textbook สอนเหมือนกัน สไลด์ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เตรียมง่ายกว่า โดยเฉพาะวิชาที่มี technical term เยอะๆ

- หลักสูตรไทยปกติจะเน้นงานวิจัยมากกว่าและจะมีอาจารย์ที่ทำงานมานานมากกว่า น่าจะมีการสะสม network และต่อยอดงานวิจัยมากกว่า

- ในอินเตอร์ระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์ส่วนใหญ่เป็นคนไทย เอาจริงๆ คือเป็นการยากที่จะให้อาจารย์ต่างชาติปริญญาเอกที่มีคุณภาพมาเป็นอาจารย์ประจำที่ไทย คิดว่าอาจารย์ไทยในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ มีพื้นฐานการศึกษาที่แข็งกว่า แต่จะสอนอินเตอร์ได้ภาษาอังกฤษต้องดี

- ในอดีตที่ไทยมีหลักสูตรอินเตอร์ใหม่ๆ เข้าง่าย เด็กที่เข้ามาจะอ่อนวิชาการ ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เท่าที่สอนมาเข้าปีที่ 6 เด็กเก่งขึ้นทุกปี ทั้งนี้ขึ้นกับการจัดการและนโยบายของมหาวิทยาลัย ขอยกตัวอย่าง

- แห่งแรกที่สอน หลักสูตรเปิดเป็นปีที่ 7 แต่นโยบายคือรักษาคุณภาพ รุ่นแรกรับ 30 จบ 4 ปีไม่ถึง 10 ปัจจุบันมีเด็กรร.ดังมาเข้าเรียนมากขึ้น รับโควต้าเกิน 90% อาจารย์ต้องจบนอกเท่านั้น

- แห่งที่สอง ปรับเกณฑ์ทั้งวิทยาลัย ทุกวิชา ผ่าน D เป็น 60% (จากเดิม 5 ปีที่แล้ววิชาที่สอน 45%) จะได้ A ต้อง 90% ข้อสอบยากเท่าเดิม บางวิชายากขึ้น

- ส่วนตัวเชื่อว่าในอีก 5 - 10 ปี ความแข็งแกร่งด้านวิชาการจะไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป

ด้านภาษาอังกฤษ
- ภาษาอังกฤษสำคัญมาก 10 - 20 ปีที่แล้วเป็นข้อได้เปรียบ ปัจจุบันไม่ได้คือเสียเปรียบ อยากได้เปรียบต้องได้ภาษาที่ 3

- จากการสังเกตเด็กที่เข้ามาเรียน มาจากอินเตอร์ - มั่นใจกับภาษาอังกฤษ มาจากเอกชนหรือ EP - ไม่กลัวภาษาอังกฤษ มาจากรร.รัฐ - ไม่มั่นใจกับภาษาอังกฤษ

- แต่พอจบจากอินเตอร์ ส่วนใหญ่มั่นใจกับภาษาอังกฤษขึ้นมาก ไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป

- แต่จะให้พูดได้แบบฝรั่งยาก เพราะการจัดสภาพแวดล้อม บุคลากร ให้เป็นนานาชาติ 100% เป็นเรื่องยาก เด็กส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กไทย ที่สอนอยู่มีเด็กต่างชาติประมาณ 10 - 20%

ด้านค่าใช้จ่าย
- ค่าเทอมม.รัฐ หลักสูตรไทย ประมาณ 10,000 - 20,000 บาท เรียน 4 ปีไม่น่าเกิน 2 แสน

- ค่าเทอมม.รัฐ หลักสูตรอินเตอร์ประมาณ 65,000 - 110,000 เรียน 4 ปีประมาณ 5 - 8 แสน

ด้านคุณภาพการศึกษาและโอกาสการได้งาน
- อินเตอร์ค่าเทอมแพงกว่า โดยทั่วไป facility จะดีกว่า นักศึกษาแต่ละ section น้อย ส่งผลให้บรรยากาศการเรียนดีไปด้วย แต่หากไปเข้าที่เด็กไม่เรียนเยอะๆ บรรยากาศการเรียนไม่ดี เคยมีอาจารย์บางท่านปฏิเสธไม่สอนในบางแห่ง

- ด้วยความที่มีเด็กต่างชาติและอาจารย์ส่วนใหญ่จบนอก บรรยากาศการเรียนจะคล้ายเมืองนอกมากกว่า มี interaction ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษามาก

- ด้วยความที่อินเตอร์มักมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ การได้ไปหาประสบการณ์ต่างประเทศ เช่น short course, internship จะทำได้ง่ายกว่า

- หลักสูตรไทยมีความเป็นมายาวนานกว่า น่าจะมี connection และสายสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องมากกว่า อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าคนที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์ส่วนใหญ่จะมีฐานะดี มีโอกาสสร้าง network และ connection ทางธุรกิจ

- โอกาสการได้งานคิดว่าขึ้นกับด้านที่จบ ถ้าเป็นด้านที่ใช้ภาษาอังกฤษจบอินเตอร์น่าจะได้เปรียบ แต่ถ้าเป็นด้านที่มีความเฉพาะทาง ความรู้ด้านเทคนิคจะสำคัญ ภาษาเป็นเรื่องรอง ได้งานหรือไม่ขึ้นกับความสามารถ ไหวพริบ และบุคลิกของบัณฑิต

สรุปเรียนหลักสูตรไหนดี
แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลนะครับ ความเห็นส่วนตัวคือ
- ถ้าเป็นสาขาที่มีความเฉพาะทางมาก เช่น แพทย์ การเกษตร และอินเตอร์ยังไม่แพร่หลาย ควรเลือกเรียนหลักสูตรไทย

- ถ้าเป็นสาขาที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ ต้องมีการติดต่องานกับบริษัทและองค์กรต่างชาติ เช่น การโรงแรม หลักสูตรเกี่ยวกับธุรกิจและการเงิน หรือบางสาขาที่มีความใหม่ เช่น วิศวะบางสาขา ควรเลือกเรียนอินเตอร์

- ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับเงื่อนไขและความจำเป็นของแต่ละคน ค่าเทอมหลักสูตรอินเตอร์ม.รัฐ ต่างกันมากก็จริง แต่ไม่น่าต่างมากในภาพรวมสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป แต่ถ้าต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อเรียนอินเตอร์ ไม่แนะนำ อันนี้รวมถึงการไปต่อที่ต่างประเทศด้วย

หมายเหตุ
- ผู้เขียนจบตรีหลักสูตรไทย ต่อปริญญาเอกที่อเมริกา ปัจจุบันสอนในหลักสูตรอินเตอร์ และได้รับเชิญไปสอนหลักสูตรไทยเป็นครั้งคราว เพราะฉะนั้นบทความนี้อาจมี conflict of interest (เพื่อเข้าใจมุมมองและที่มาของบทความ)

- เนื้อหาบางส่วนของบทความนี้เป็นความเห็น ไม่ใช่ fact โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ



เกี่ยวกับผู้เขียน

อ่านเรื่องราวดีๆ ในห้องเรียนเพิ่มเติม





ที่มา:
http://www.academic.chula.ac.th/Cu…/Present_Curr_Cour50.html
http://www.glurr.com/topic/583
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Team

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles