[article] คำบอกเล่าจากสภาหอการค้าไทย… กับความร่วมมือปราบปรามภัยแล้งที่ทุกคนต้องตระหนัก โดยคุณวิชัย อัศรัสกร

 
 
 
    ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อบรรเทาภัยแล้งที่จะมาถึงอย่างหนักหน่วงที่สุดในรอบ 20 ปีจากภาครัฐบาลนั้น ทำให้มีการส่งต่อความร่วมมือไปหลายภาคส่วนด้วยกัน รวมถึงทางสภาหอการค้าไทยที่ต้องลุกขึ้นมากระตุ้นผู้นำหลายองค์กรให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน
    ทางทีมงานพันธุ์แท้ได้เห็นถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว จึงขอทำหน้าที่เป็นตัวอย่างและเป็นสื่อกลางเพื่อบอกต่อและนำเสนอวิกฤติการณ์นี้ จากการสัมภาษณ์ทางสภาหอการค้าไทยโดยตรง หวังว่าพี่น้องชาวไทยจะได้ตระหนักเห็นปัญหาและร่วมมือกันคนละเล็กน้อยเพื่อช่วยเหลือคนไทยด้วยกันที่ประสบปัญหานี้อย่างแท้จริงทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพราะเราทุกคนเป็นคนไทยที่รักประเทศไทย 
 
    ทางทีมงานพันธุ์แท้ได้มีโอกาสพูดคุยและสัมภาษณ์คุณวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ไว้ดังนี้
 
- ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบอย่างไรต่อประเทศ และในแง่ของภาคการค้าอย่างไร?

   คุณวิชัยกล่าวถึงภาครวม ว่าเคยมีการให้ตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า หลักๆเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งประเทศไทยปีที่แล้วมีฝนตกลงมาน้อย จนเกิดภัยแล้ง แต่จะกล่าวว่าน้อยก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะเกิดจากไม่มีการดักเก็บและรักษาบริหารจัดการน้ำ 

   ในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าไม่มีปัญหา ....แต่ที่น่าเป็นห่วงมากๆ เป็นทางการเกษตรกร ซึ่งหลายหน่วยงาน คือกระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศแล้วว่าให้งดทำนาปังในอนาคต ซึ่งต่อไปไม่รู้จะแล้งขนาดไหน ถ้าต้องงดทำนาด้วย ถ้าเป็นดังนั้นจะยุ่งยากไปใหญ่ 
   คุณวิชัยได้กล่าวตอกย้ำหลายครั้งถึงคนกรุงว่าต้องตระหนักและเห็นความจริง

 

ภาพถ่ายอีสานเมื่อต้นปี
 
   “คนกรุงควรสะท้อน เห็นภาพชาวนาไม่มีน้ำปลูกข้าวที่เค้าเดือดร้อน พืชผลเกษตรราคาตกต่ำ แม้ว่าจะปลูกข้าวเพื่อกินเองก็มีปัญหา พวกเราคนกรุงถึงแม้จะมีน้ำดื่มน้ำใช้ต้องพึงสังวร ว่าเรามีน้ำดื่มน้ำใช้… แต่มีอีกส่วนหนึ่ง ไม่มีน้ำจะดื่มไม่มีน้ำจะใช้แล้วก็เดือดร้อนอยู่ จะทำอะไรต้องพยายามช่วยแบ่งเบาภาระปัญหา อย่าคิดว่าเราไม่มีปัญหาแล้วก็จะทำอะไรเหมือนเดิม
    ในสิ่งที่ภาคเอกชนเราทำได้เลย คือเรื่องของการประหยัดน้ำ การประหยัดน้ำ 5% 10% ใครก็ทำได้ ใช้สามัญสำนึก ปิดก๊อกน้ำบ่อยๆ ใช้น้ำน้อยๆ แต่ว่ามันอาจจะช่วยไม่ได้มาก เราในภาคเอกชนต้องทำให้ได้มากกว่านั้น”


    คุณวิชัยกล่าวอีกว่ายังมีการตั้งเป้าร่วมกับ 3 สถาบัน 1.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  2.สภาอุตสาหกรรม  3.สมาคมธนาคาร
    ร่วมกันตั้งเป้าไว้อย่างน้อย 30% แต่วิธีการนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะต้องมีองค์ความรู้ร่วมด้วย จนไปถึงบางทีต้องลงทุนใช้อุปกรณ์ในการประหยัดน้ำ และต้องมีการประชุมบริหารจัดการอย่างดี ...ยกตัวอย่างบริษัทเช่น โรงงานมิตรผล มีพื้นที่ 200 กว่าไร่ที่ต้องบริหารดูแล บริษัทมีการจัดเก็บไว้เยอะรวมถึงการดักน้ำฝนและใช้น้ำบาดาลเข้ามาเป็นน้ำสำรอง ในแง่ของอุตสาหกรรมแปรรูปก็สามารถใช้น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตมารีไซเคิล หรือในกองบำบัดน้ำเสียก็บำบัดจนนำน้ำมาใช้ได้ และยังนำไปแบ่งปันให้ผู้อื่นได้
    การแบ่งปันน้ำนั้น คนกรุงก็สามารถรวมเงินกันซื้อน้ำดื่มไปในสถานที่ที่ขาดน้ำได้ ถ้าเป็นรูปแบบน้ำใช้ ก็ร่วมกันซื้อเป็นสตอเรจแท้งไปบริจาคชาวบ้านได้ 
    คนไทยที่อยู่ต่างจังหวัดเกิดปัญหา ทุกคนต้องช่วย ต้องทำให้บุคคลเหล่านั้นรู้ว่าท่านพยายามช่วย อย่างน้อยปลุกจิตสำนึกร่วมกันก็ดี
    หรือแม้กระทั่งช่วงสงกรานต์

   
“ผมได้เข้าไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ท่านตอบรับดีมาก ซึ่งเรานั้นพยายามส่งสัญญาณว่า ในขณะที่เกษตรกรมีปัญหาเรื่องน้ำแต่คนกรุงเล่นสงกรานต์ฉีดน้ำกันแบบไม่คิด ถ้าภาพนี้ออกไปเกษตรกรจะคิดอย่างไรในขณะที่เขาไม่มีน้ำจะกิน จะใช้ จะปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ บางครั้งเราไม่มีปัญหาแต่เราต้องพึงตระหนักว่าสิ่งที่ทำเหมาะสมหรือไม่… เรามีความสุขได้ พรมน้ำ ปะน้ำ แต่ขอให้มีความสุขในช่วงสงกรานต์แบบมีสติ ใช้ความสุขแบบรับผิดชอบ มีความสุขโดยคิดถึงผู้อื่นบ้าง”

 
- ในส่วนของหอการค้าคุณวิชัยดูแลเรื่องของภัยแล้งทั้งหมด ดังนั้นจะมีนโยบายในการดำเนินงานของหอการค้าอย่างไรในการช่วยเหลือ?

    มีการรณรงค์โดยการติดโปสเตอร์ และร่วมมือกับ 12 บริษัทที่กล่าวมาบ้างแล้วข้างต้นคือ มิตรผล Central SCG  ปตท. สมาคมโรงแรม ธนาคารกสิกร เบทาโกร และในอีกหลายบริษัทที่กำลังจะขยายผลจาก 12 บริษัทให้เป็น 100 บริษัท 

   
“ต้องขอขอบคุณสภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร ที่เป็นวาระร่วมให้เกิด 100 บริษัท มีการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี มีเรื่องของการ Recycle  Reuse และ Reduce 
    สิ่งที่เราทำคือ บริษัทที่เขาประสบความสำเร็จให้เอาองค์ความรู้ใหม่มารวมอยู่ในส่วนกลาง อยู่ในเว็บไซต์ของ กกร. (สำนักงานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน) ในสภาหอการค้าไทย และร่วมกับไทยพีบีเอสพยายามใช้สื่อตรงนี้ขยายออกไป และด้วยช่องทางโซเชียลมีเดียต้องขอบคุณทีมงานพันธุ์แท้ เพราะผมต้องการสื่อออกไปให้มันกว้าง ทุกคนก็สามารถทำได้ ทำให้ได้มากที่สุด …”


    คุณวิชัยกล่าวถึงบางบริษัททำได้ 70- 80 % ถือว่าเป็นเคสที่ทำให้เห็นว่าน้ำมีคุณค่า อีกสิ่งที่ชี้ให้เห็นการเสียหายในระบบการประปา คือเมื่อผลิตน้ำจ่ายน้ำทุกบ้านต้องเช็คเสียงปั่นมอเตอร์ ถ้าดังแสดงว่าน้ำรั่ว ซึ่งน้ำที่รั่วในระบบการประปาของกรุงเทพมหานครมีถึง 30% แค่ขจัดส่วนที่รั่วก็ได้คืนมาแล้ว 30% 
    …นี้คือสิ่งที่คนบางคนไม่รู้ว่า ฝนที่ตกลงมาในเขื่อน 100 หยด แต่จริงๆแล้วลงไปที่เขื่อนเพียง 5 ถึง 6 หยด อีก 94 หยด หายไปไหนไม่มีใครพูดถึงเพราะไม่มีกลไกเครื่องมือบริหารจัดการ ซึ่งเราควรมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ สิ่งนี้นั้นคือโซลูชั่นต่อไปที่จะนำเสนอให้เป็นระบบ
 
   
“สมัยก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีคนพูดว่าน้ำจะไม่มีใช้ เค้าก็ว่ากันว่าเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้เรากำลังเผชิญสิ่งนั้นอยู่ ...ต่อไปเราอาจจะเจอสงครามการแย่งน้ำ ตอนนี้คนก็อาจจะมองว่าเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน แต่ขอให้คอยดูว่าสงครามแย่งน้ำในประเทศไทยจะเป็นไปได้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องฝากไว้”

 
- ปกติคุณวิชัยมีวิธีการประหยัดน้ำส่วนตัวอย่างไร?

   ครอบครัวคุณวิชัยเป็นครอบครัวตัวอย่างโดยเฉพาะภรรยา ซึ่งเป็น Regulator ประจำบ้านที่ดีมาก

   
“หลักการง่ายๆ คือให้ทุกคนมีสติเมื่อเปิดก๊อกล้างมือ ช่วงที่ถูสบู่ล้างมือก็ให้ปิดน้ำ ส่วนห้องน้ำในบ้านจะมีทั้งฝักบัว มีทั้งขัน มีขันไว้เพื่อรองน้ำเวลาถูสบู่ไม่ต้องใช้ฝักบัว แล้วใช้ทั้งขันและถังเพื่อเอาไว้รองน้ำและเอาไปใช้ reuse สำหรับถูบ้านต่อ ทำให้ค่าน้ำลดลงไปเยอะ ...สิ่งสำคัญที่อยากให้คิดคือทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีค่าโดยเฉพาะน้ำ …ในหลวงทรงตรัสว่าน้ำคือชีวิต และเป็นชีวิตจริงๆ”

   คุณวิชัยกล่าวต่อมาว่า ส่วนใหญ่คนกรุงมักไม่ค่อยคิด เพราะเปิดก๊อกเมื่อไหร่น้ำก็มา ถ้าได้ไปอยู่ต่างจังหวัดกลางเขา แบบนั้นแล้วเราจะค่อยรู้สึกถึงความขาดแคลน… คุณวิชัยคิดว่าเมืองไทยมีหลายที่ที่ในหลวงไปส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการน้ำของชุมชน 

   
“ถ้าสุดยอดขององค์ความรู้เรื่องน้ำ สุดยอดปรมาจารย์ของประเทศไทยหรือของโลก ผมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือสุดยอด”

   มีหลายที่ที่ท่วมซ้ำซาก ที่เดียวกันทั้งท่วมทั้งแล้ง หมายถึง น้ำมาก็ท่วม น้ำหมดก็แล้ง เป็นเช่นนี้ทุกปี …มีวิธีคิดแก้ที่ง่ายมาก 
    1.เพียงแค่มีองค์ความรู้ ทั้งแผนที่ผังการไหลของน้ำ แล้วก็เครื่องมือ มีการจัดสัมมนาการสอนชาวนาแล้วทำแผนที่ใหม่ให้ตรงตามข้อเท็จจริง เช่นเวลาขุดบ่อน้ำต้องมีข้อมูล ถ้าขุดแบบไม่มีข้อมูล น้ำก็ไม่ไหลตามตำแหน่ง เสียเวลา เสียทรัพยากรณ์ 
    2.ชุมชนต้องใหญ่พอที่จะบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ต้องมีที่กลางที่สามารถนำมาแชร์กันได้ เรื่องงบประมาณน้ำสามารถคำนวณได้ว่าน้ำปีหนึ่งจะเข้ามาเท่าไหร่ ต้องใช้น้ำเท่าไหร่ ต้องปล่อยออกไปเท่าไหร่ เก็บเท่าไหร่ เพื่อไว้ใช้อุปโภคบริโภค 

 
“วันหลังจะพาไปดูชาวบ้านใช้มือถือในการจัดทำวอเตอร์บัตเจ็ท เห็นแล้วคนกรุงต้องอาย ที่ที่ทำวอเตอร์บัตเจ็ทนั้น จากที่เคยแห้งแล้งหนึ่งปีผ่านไปไม่เคยแห้งแร้งอีกเลยและไม่เคยท่วมอีกเลย นี่คือประเด็นหลักการกว้างๆ ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่สลับซับซ้อนซึ่งต้องไปดูถึงที่ 
    ทางการชอบคิดว่าปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2553 มาจากเรื่อง Management Infrastructure ใหญ่ๆ อย่างแก่งเสือเต้นนั้นทางการไม่ให้ทำ แต่ต้องทำเขื่อน ซึ่งเขื่อนนี้ชาวบ้านเค้าไม่คิดว่าเค้าเป็นเจ้าของ ยามเมื่อมีปัญหาชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าต้องช่วยอย่างไร… แต่ถ้าเป็นบ่อน้ำหน้าบ้านเค้าจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ก็จะเกิดการรักษาหวงแหน”

 

 
  นี่คือส่วนหนึ่งจากคุณวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่เป็นห่วงเป็นใยชาวไทยทุกคน เมื่อยามมีปัญหาที่จะกระทบหรือไม่กระทบตัวเราก็ตาม ทุกคนต้องรู้สึกร่วมกับพี่น้องที่มีทุกข์เสมอ ซึ่งทำให้ทางหอการค้าลุกขึ้นมาเป็นตัวอย่างและตัวแทนในการกระจายความองค์ความรู้นี้ ต่อมาหวังว่าทุกคนจะช่วยกันจับมือชาวเกษตรกรหรือผู้ที่ได้ผลกระทบนั้นพาดผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกันทุกคน

   ทางทีมงานพันธุ์แท้ต้องขอขอบคุณข้อมูลที่มีประโยชน์จากคุณวิชัย สภาหอการค้าไทย มา ณ ที่นี้ค่ะ


สัมภาษณ์โดย : TurnJetrider ติดตามแฟนเพจ
เรียบเรียงข้อมูลโดย : VarinTheTale ติดตามแฟนเพจ

 
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Team

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles