[article] รับมือภัยแล้งครั้งใหญ่ “แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง”

 
 
 
 
รับมือภัยแล้งครั้งใหญ่ “แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง”
 
credit: http://www.wired.com/2015/02/lack-rain-one-stories-behind-wests-inevitable-2015-drought/

เริ่มต้นปี 2559 ข่าวภัยแล้งเป็นประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเรื่องหนึ่งที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง เพราะมีหลายปัจจัยที่บ่งบอกว่าภัยแล้งปีนี้มีวี่แววจะรุนแรงในรอบหลายปี ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์ว่าฤดูฝนจะมาช้ากว่าปกติและปริมาณน้ำฝนก็น้อยลง และระดับน้ำในเขื่อนหลักของประเทศที่กักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งของปีนี้ก็มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก แถมยังส่อเค้าว่าจะหมดลงและไม่เพียงพอต่อปริมาณการอุปโภคทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคครัวเรือน

ภัยแล้ง หมายถึง ความแห้งแล้งของลมฟ้าอากาศอันเกิดจากการที่มีฝนน้อยกว่าปกติ หรือฝนไม่ตก ต้องตามฤดูกาลเป็นระยะเวลานานกว่าปกติและครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ขาดน้ำ ทำให้ไม่เจริญเติบโตตามปกติ เกิดความเสียหายและความอดอยากทั่วไป ภัยแล้งในประเทศไทยเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติและมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดภัยแล้งอีกหลายประการ เช่นระบบการหมุนเวียนของบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศกับน้ำทะเลหรือมหาสมุทร ดังนั้นการเกิดภัยแล้งจึงมิใช่เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว (ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.2551)

 
Credit: http://www.mcot.net/site/content?id=530f2384be0470a9748b4575#.VuB5X_l95dg

เกษตรกร ชาวนาชาวไร่โดนก่อน!  เกษตรกรรม...โดยเฉพาะการทำนาถือว่ามีการใช้น้ำปริมาณมากที่สุดเทียบกับการทำสวนทำไร่อื่นๆ ในบางพื้นที่มีการทำนาถึง 3 รอบใน 1 ปี แต่ด้วยสถานการณ์ปริมาณน้ำ หน่วยงานรัฐก็ได้ออกนโยบายงดการทำนาปรังในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรให้ทราบถึงความเสี่ยงที่น้ำจะไม่พอเพียงสำหรับการทำนาจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนในฤดูแล้ง อย่างเช่นถั่วเหลือง ถัวเขียว ถัวลิส่ง เพราะนอกจากจะได้ประหยัดน้ำในเกาเกษตรแล้ว ยังได้พักดินจาการทำนาและพืชตระกูลถั่วยังช่วยบำรุงดินได้ด้วย แต่เหมือนเกษตรกรบางกลุ่มยังไม่เห็นด้วยและมีข้อโต้แย้งกับนโยบายนี้ อาจจะเป็นเพราะยังขาดความรู้ในการเพาะปลูกพืชที่ไม่เคยปลูกมาก่อนและยังกังวลกับราคาผลผลิตเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว

ตัวอย่างข้อโต้แย้งของเกษตรกรต่อนโยบายการงดทำนาปรัง
   -   น้ำผ่านหน้าบ้าน ทำไมฉันจะเอามาใช้ไม่ได้
   -   ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่ก็ไม่มีน้ำให้ใช้
   -   ตอนน้ำท่วมให้ฉันเป็นแก้มลิง ตอนน้ำแล้งให้ฉันงดปลูกข้าว
   -   เคยเรียกผู้ประกอบการอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟมาชี้แจงอย่างนี้หรือไม่
   -   คนกรุงเทพฯและปริมณฑลใช้น้ำวันวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. 4 เดือนใช้น้ำ 500 ล้าน ลบ.ม.
ถ้าเอาน้ำจำรวนนี้ไปทำนาได้ 400,000 ไร่ ขายข้าวได้ 2,600 ล้านบาท แต่ถ้าเอาไปทำน้ำประปาขายได้ 6,000 ล้านบาท พวกฉันไม่เห็นได้อะไรเลย

 
Credit: http://campus.sanook.com/928753/

สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ซื้อข้าวกิน มีน้ำประปาใช้ อย่าเพิ่งคิดว่าเรื่องภัยแล้งเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ได้รับผลกระทบนะครับ เพราะอย่าลืมว่ากรมชลประทานก็ต้องจัดสรรปริมาณน้ำต่อทุกภาคส่วน แล้วถ้าน้ำในแหล่งน้ำที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาลดลงหรือไม่เพียงพอ มันต้องส่งผลต่อการจ่ายน้ำแน่นอน แล้วถ้าผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ราคาสินค้าเกษตรก็จะแพงขึ้น ที่นี้มันส่งผลต่อเงินในกระเป๋าเราๆท่านแน่นอน

กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ช่วงเฝ้าระวัง 120 วันอันตราย
พวกเราในถานะผู้อุปโภคบริโภคน้ำจะช่วยประหยัดอย่างไรได้บ้าง ผมมีคำแนะนำดีๆจากการประปานครหลวงมาฝากครับ
   1. การอาบน้ำ การใช้ฝักบัวจะสิ้นเปลืองน้ำน้อยที่สุด ยิ่งฝักบัวรูเล็กยิ่งประหยัดน้ำ แต่ถ้าใช้อ่างอาบน้ำจะใช้น้ำมากถึง 110-200 ลิตร
   2. การโกนหนวด โกนหนวดแล้วใช้กระดาษเช็ดก่อนจึงใช้น้ำจากแก้วมาล้างอีกครั้ง การล้างมีดโกนโดยการจุ่มล้างในแก้วจะช่วยประหยัดมากกว่าการล้างจากก๊อกโดยตรง
   3. การแปรงฟัน การใช้น้ำบ้านปากและแปรงฟันโดยใช้แก้วจะใช้น้ำเพียง 0.5-1 ลิตร การปล่อยให้น้ำไหลจากก๊อกตลอดการแปรงฟันจะใช้น้ำถึง 20-30 ลิตร/ครั้ง
   4. การใช้ชักโครก การใช้ชักโครกจะใช้น้ำถึง 8-12 ลิตร/ครั้ง เพื่อการประหยัดควรใช้ถุงบรรจุน้ำมาใส่ในโถ เพื่อลดการใช้น้ำในโถส้วม หากใช้ชักโครกควรติดตั้งโถปัสสาวะและโถส้วมแยกจากกัน
   5. การซักผ้า ขณะทำการซักผ้าไม่ควรเปิดน้ำทิ้งไว้ตลอดเวลา จะสูญเสียน้ำถึง 9 ลิตร/นาที และควรรวมรวมผ้าให้ได้มากพอต่อการซักแต่ละครั้งทั้งการซักด้วยมือและเครื่องซักผ้า
   6. การล้างถ้วยชามภาชนะ ใช้กระดาษเช็ดคราบสกปรกออก่อนแล้วล้างพร้อมกันในอ่างน้ำ จะประหยัดเวลา ประหยัดน้ำ และให้ความสะอาดมากกว่าล้างจากก๊อกโดยตรง ซึ่งจะสิ้นเปลืองน้ำ 9 ลิตร/นาที
   7. การล้างผักผลไม้ ใช้ภาชนะรองน้ำเท่าที่จะเป็น ล้างผักผลไม้ได้สะอาดกว่าเปิดล้างจากก๊อกโดยตรง ถ้าเป็นภาชนะที่ยกย้ายได้ ยังสมารถนำน้ำไปรดต้นไม้ได้ด้วย
   8. การเช็ดถูพื้น ควรใช้ภาชนะรองน้ำและซักล้างอุปกรณ์ในภาชนะก่อนที่จะนำไปเช็ดถู จะใช้น้ำน้อยกว่าการใช้สายยางล้างทำความสะอาดพื้นโดยตรงถึง 20-30 ลิตร/ครั้ง
   9. การรดน้ำต้นไม้ ควรใช้บัวรดน้ำต้นไม้แทนการใช้สายยางต่อจากก๊อกน้ำโดยตรง หากเป็นพื้นที่บริเวณกว้างก็ควรใช้สปริงเกลอร์ หรือใช้น้ำที่เหลือจากกิจกรรมอื่นมารดน้ำต้นไม้ก็จะช่วยประหยัดน้ำลงได้
   10. การล้างรถ ควรรองน้ำใส่ภาชนะ เช่นถังน้ำแล้วใช้ผ้าหรือเครื่องมือล้างรถจุ่มน้ำลงในถังเพื่อเช็ดทำความสะอาดแทนการใช้สายยางฉีดน้ำโดยตรง ซึ่งจะเสียน้ำเป็นปริมาณมากถึง 150-200 ลิตร/ครั้ง
ลองดูนะครับว่าวิธีไหนที่เราสมารถเอาไปปรับใช้ได้บ้าง แต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม เราจะต้องผ่านเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นเทศการที่เราใช้น้ำกันมากและต่อเนื่องหลายวัน ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะมีนโยบายต่อเทศกาลสงกรานต์อย่างไร แล้วตัวคุณเองคิดเห็นอย่างไรครับ

 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 10 องค์กรนำร่องร่วมกับหอการค้าไทย และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จับมือร่วมกันฝ่าวิกฤตภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 20 ปี โดยจัดแคมเปญรณรงค์ประหยัดน้ำภายใต้ชื่อ “แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง” ตั้งเป้าร่วมกันลดการใช้น้ำให้ได้ 30%

ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เหตุผลสำคัญที่เราเข้าร่วมโครงการเพราะหอการค้าไทยเป็นศูนย์รวมของภาคธุรกิจทั่วประเทศ มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เราจึงคาดหวังว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะเป็นการปลุกพลังของภาคธุรกิจ ในการมีส่วนร่วมเพื่อลดการใช้น้ำอย่างประหยัดและการแบ่งปันทรัพยากรอันมีค่าร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมของหอการค้าไทยในการรณรงค์ คือการให้ภาคธุรกิจทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลดการใช้น้ำประปา 30%

โดยหอการค้าไทยได้สร้างต้นแบบ 10 ธุรกิจนำร่องของโครงการ ในส่วนภูมิภาค ได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัด ในการสร้างธุรกิจต้นแบบลดการใช้น้ำให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งเราก็มีความมุ่งหวังที่จะช่วยให้สังคมไทยฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน และการรณรงค์ลดการใช้น้ำจะเป็นการสร้างพลังในการปลูกจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างประหยัด มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด


 
#iHEREGO

สามารถพูดคุยกับผมได้ที่
 www.facebook.com/GrowMyFood.iHEREGO/
 
Created date : 17-03-2016
Updated date : 17-03-2016
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : iHereGo

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles