[article] สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจใหม่ ALL IN STARTUP

 
 
 
“นี่คือหนังสือที่ผู้กำลังจะสร้างธุรกิจหรือเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องอ่าน” – Steve Blank เจ้าพ่อผู้ให้กำเนิดหลักการ Lean Startup ได้บอกไว้ใน คำนำของหนังสือเล่มนี้ครับ

อธิบายความหมายเบื้องต้น สำหรับคนที่ไม่รู้จักคำว่า Startup ก่อนนะครับ

Startup - ก็คือนิยามของกลุ่มคนที่มุ่งสร้างธุรกิจ ที่สามารถ ขยายตัวได้ (Scalable) ทำซ้ำอีกรอบได้ (Repeatable) อย่างเช่น Line, Facebook หรือ ถ้าในบ้านเราก็จะมี Ookbee (ร้านหนังสือออนไลน์) และ Grab Taxi เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจพวกนี้ขยายตัวได้เร็วมาก และ สามารถนำโมเดลเดียวกันไปทำซ้ำที่ประเทศอื่นและขยายตัวได้อีกหลายรอบ

ส่วน
Lean - คือหลักการที่เรียกได้ว่าเป็น แนวคิดหลักของพวก Startup เลยก็ว่าได้ เนื้อหาหลักๆ จะเน้นให้มีการทดสอบแนวความคิดต่างๆ ก่อนจะไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อออกตลาดจริง เพราะจะทำให้เราเดินถูกทางและใช้เงินได้อย่างเหมาะสมที่สุด 

หนังสือเล่มนี้ ใช้นิยายเล่าหลักการของ Lean, ยกตัวอย่าง และตอบคำถาม ผ่านตัวละครต่างๆ ได้เข้าใจและตรงประเด็นมาก พอได้เปิดแล้วผมอ่านรวดเดียว ไม่กี่ชม.ก็จบเลย ถึงแม้จะเคยเรียนเรื่อง Lean มาหลายครั้ง อ่านมาหลายรอบ ปรับใช้กับบริษัทฯ พอมาอ่านเล่มนี้ มันก็ยังมีหลายประเด็นที่เรายังมองข้ามไป หลายประโยคที่ตัวละครพูดมาเหมือนกำลังด่าตัวเราเองอยู่ อย่างนั้นเลย

ผมขอสรุปเรื่องแบบมีสปอยล์นิดๆ ให้อ่านละกันนะครับ คือมี เจ้าหนุ่มวัยกลางคนหน้าตาดี ผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งดูยังไปได้ไม่ค่อยสวย อีกทั้งยังมีครอบครัวที่ต้องคอย Balance ระหว่าง การทุ่มเทให้งานและครอบครัว แล้วเกิดโชคดี ไปเจออดีต Startup สาวสวยที่ปัจจุบัน Exit ไปแล้ว และผันตัวมาเป็น Investor เลยได้ทำหน้าที่ Mentor ให้คำแนะนำหลายอย่าง ซึ่งก็ทำให้เขาพบแนวทางที่สดใสขึ้นของกิจการ แต่ก็มีสุ่มเสี่ยงว่าจะออกนอกลู่นอกทางด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว (มันมีความเซ็กซี่ปนอยู่ในเรื่องส่วนนี้แหละ) แต่ด้วยความที่เป็นคนซื่อสัตย์กับภรรยาจึงผ่านเรื่องนี้มาได้ด้วยดี 

ถ้าเล่าย่อทั้งเรื่อง เพื่อนๆ ไปอ่านต่อคงจะสนุกน้อยลง งั้นบทความนี้ ผมสรุปเฉพาะหลักการและประโยคที่สำคัญไว้ละกันนะครับ

“Startup ควรมุ่งหา โมเดลธุรกิจ มากกว่า การลงมือปฏิบัติตามแผนธุรกิจ” – Steve Blank

ข้อคิดหลัก 4 ข้อสำหรับ Startup 
1. สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกของ Startup ก็คือ “การหาลูกค้า” ไม่ใช่ การสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์
2. ลูกค้าไม่ได้ซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการ “แต่ซื้อ Solution หรือ วิธีการในการแก้ปัญหาของพวกเขา”
3. ผู้ประกอบการคือ “นักสืบ” ไม่ใช่ “หมอดู” ขยายความคือ เราต้องขยันตั้งสมมติฐานแล้วไปทดสอบ แล้วหาสมมติฐานใหม่เรื่อยๆ ไม่ใช่มานั่งเขียนแผนธุรกิจล่วงหน้า 3 ปี 5 ปี ซึ่งนั้นไม่ต่างอะไรกับหมอดู
4. ผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จ คือ “ผู้ที่สร้างโชค” ไม่ใช่ “ผู้เสี่ยงโชค” ขยายความคือ เราต้องพยายามลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด ด้วยการลงทุนทีละน้อยในการทดสอบการตัดสินใจ (การทำ MVP-Minimal Viable Product) ไม่ใช่ลงทุนก้อนใหญ่ไปกับการทำ Product ทั้งอัน แล้วมาเสี่ยงลุ้นโชคทีหลัง

“คุณจะต้องแก้ปัญหาที่ลูกค้าของคุณมีอยู่แล้ว แทนที่จะพยายามโน้มน้าวให้เขาเห็นว่ากำลังมีปัญหา” 

“การสร้างธุรกิจ ไม่ใช่การสร้างโซลูชั่นชั้นยอด แล้วหวังว่าตลาดจะอ้าแขนรับ แต่ต้องเป็นการเข้าใจลูกค้าก่อนแล้วทำโซลูชั่นส่งไปให้ถึง”

“จงให้ความสำคัญกับลูกค้า และความต้องการของเขา ก่อนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโซลูชั่นของคุณ”

“บริษัทไม่ได้ล้มเหลวเพราะพวกเขาไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีได้ แต่พวกเขาล้มเหลวก็เพราะ พวกเขาไม่สามารถสร้างในสิ่งที่คนต้องการได้ต่างหาก” 

ถ้าธุรกิจของคุณไม่สามารถไปได้ นั้นก็หมายความว่า
1. คุณสร้างโซลูชั่นสำหรับปัญหาที่ยังไม่เกิด
2. ลูกค้าของคุณไม่รู้ว่าเค้ากำลังมีปัญหา หรือไม่ก็ ปัญหานั้นมันไม่สำคัญพอให้ลูกค้าจ่ายเงินแก้
3. Solution ของคุณไม่ได้แก้ปัญหานั้นอย่างจริงจัง

“โอกาสที่ Startup จะประสบผลสำเร็จเพิ่มขึ้นมาก หากว่าคุณ Focus กับการแก้ไขปัญหาที่หนักหนาจริงๆ ของลูกค้า (Pain Killer not Vitamin)”

อยากแนะนำให้เพื่อนๆ Startup ลองอ่านดู จะเข้าใจแต่ละประเด็นหลักที่ผมยกมาได้กระจ่างขึ้นครับ และน่าจะได้ประเด็นอื่นที่เข้าใจง่ายได้อีกหลายอย่างครับ

บทความดีๆจาก letterplanet.com ติดตามเรื่องราวที่หน้าสนใจอื่นได้ที่นี่ คลิก 
Created date : 01-03-2016
Updated date : 01-03-2016
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Team

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles