[article] โลกออนไลน์ มีเอี่ยวให้เกิดโรคซึมเศร้า

 
 
 
            เมื่อสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนในชีวิตประจำวัน จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่เรามักจะเลือกสนทนากันผ่านแพลตฟอร์มใหม่ที่เปรียบดั่งโลกเสมือนจริง และช่วยให้เราได้มีความสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ มากหน้าหลายตา
            แต่ทว่าเมื่อหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกที่แสดงออกผ่านโลกออนไลน์ เรากลับกลายเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิงกับโลกภายนอก จนกลายเป็นคนขี้เหงา หรืออาจถึงขั้นซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
 

 
            แต่ในอีกด้านหนึ่งการสื่อสารในโลกโซเชียลถูกทำให้เป็นการแสดงความเป็น “ส่วนตัว/ตัวตน” ที่อยากจะให้คนอื่นรับรู้ และ “ชื่นชม จึงทำให้การนำเสนอสาระเป็นเพียงการตัดส่วนเสี้ยวของชีวิตมาขยายให้กลายเป็นภาพที่อยากให้คนอื่นเห็น การนำเสนอลักษณะนี้ ก็คือการทำให้ตนเองหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกของความต้องการแสดงตน หากไม่ได้รับการตอบสนองว่าได้รับรู้และ “ชื่นชม” ก็จะรู้สึกกระทบลงลึกถึงความเป็นตัวตน (โปรแกรม line ใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า อ่านแล้วจึงก่อปัญหาทางอารมณ์ของผู้ส่งความ ว่าอ่านแล้วทำไมจึงไม่ยอมตอบ)
 

 
             แม้ว่าคนกลุ่มใหญ่จะเลือกใช้โลกโซเชียลในการติดตามคนอื่นโดยที่ไม่แสดงตัวตน แต่การติดตามก็คือการมองไปที่คนอื่นด้วยสายตาของเราที่วางอยู่บนฐานอารมณ์ความรู้สึกของเรา ซึ่งเมื่อรับรู้ส่วนที่ถูกตัดมาเสนอ/แสดงซึ่งก็จะเป็นส่วนที่ “งดงาม” “ร่ำรวย” “ยอดเยี่ยม” เราก็รับรู้และนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตทั้งหมดจริงๆ ของเราทันที
 
             ลองมาดูกันว่า คุณมีอาการเป็น "โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊คหรือไม่?" ดังนี้
(1) มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเป็นจริงที่เป็นสุข ของเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊ค
(2) ตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของกิจกรรมชีวิตประจำวันของผู้อื่นๆ
(3) มักเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตของตนเองกับเพื่อนๆ อยู่เสมอ
(4) คุณมักเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตนเองอยู่เสมอ เพื่อเรียกร้องความสนใจ
(5) รู้สึกกระวนกระวายใจ เมื่อไม่สามารถเช็คข้อความ ข่าวสาร หรือ สถานะของคุณได้เหมือนที่ทำเป็นปกติ
(6) คุณมักลับสมองและค้นหาข้อความขำขัน แหลมคม อัพเดทสถานะแบบดึงดูด หรือโพสต์บทความต่างๆ ที่สร้างภาพว่าคุณเก่ง คุณเจ๋ง คุณเกาะติด หรือเป็นผู้นำ มีความสุขและน่าตลกขบขัน
 

             การเลือกที่จะอยู่ในโลกโซเชียลอย่างไม่ระมัดระวัง ความรู้สึกตัวเอง และไม่ตระหนักถึงพลังการเหวี่ยงของอารมณ์ ยิ่งก่อให้เกิดสภาวะซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นและลึกซึ้งมากขึ้น เพราะเมื่อเราถูกทำให้หมกมุ่นอยู่กับตนเองและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ที่ให้ความหมายแก่ตัวเรา ตัวตนของเรา ก็ไม่มีทางที่จะเสถียรพอที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความหมาย
 

             ความพยายามที่จะมี “ตัวตน” ในโลกโซเซียลอย่างไม่ระวังและไม่ตระหนัก จึงผลักดันให้คนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นกลุ่มคนที่เสนอตัวแสดงความคิดเห็นบนการใส่ความรู้สึกไปทั่วทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องอะไร (ไม่ว่ารู้หรือไม่รู้ ก็ขอเสนอความเห็นไว้ก่อน วัยรุ่นใช้คำว่า“เผือก”)
ในเงื่อนไขทางสังคมทุกวันนี้ คงไม่สามารถที่จะหยุดการอยู่ใน “โลกโซเชียล” ได้ แต่ก็ต้องเตือนกันว่า จำเป็นต้องตระหนักและระมัดระวัง “อารมณ์” ของเราให้ดีครับ
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Reporter
บทความโดยทีมงาน พันธุ์แท้.com

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles