[article] ทรงคุณค่า! ศิลปะจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๙ ความภาคภูมิใจในความทรงจำของพ่อ...และของเรา (วโรกาสฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี) by VarinTheTale

 
 
 

----------------------------------------------------------------------------------------------------

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เขียนงานจิตรกรรมฝาผนังของ พระพุทธรัตนสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ มีความงดงามและเป็นไปตามพระราชดำริอย่างแท้จริง จึงเรียกได้ว่างานชุดนี้ คือ ศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๙ ค่ะ

ด้วยเพราะสถานที่แห่งนี้คนนอกไม่สามารถเข้าได้ จึงได้จำลองเป็นภาพถ่ายมาเผยแพร่แทนค่ะ ภาพงานเขียนนี้เป็นภาพเขียนระหว่างช่องพระบัญชรด้านเหนือใต้ รวม ๘ ช่อง ล้วนบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลที่เกี่ยวกับสถานที่นี้ไว้ คือรัชกาลที่ ๔ – ๙
(ส่วนฝาผนังช่องตะวันออกและตก เป็นจิตรกรรมรัชกาลที่ ๔ เขียนเรื่องประวัติพระแก้วขาวค่ะ)





ภาพเดิมสมัยยังไม่เปลี่ยนสีหลังคา

 
พ ร ะ พุ ท ธ รั ต น ส ถ า น ศาสนสถานที่ร้อยผูกพันกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ไว้อย่างทะนุถนอม

“… เราเหมือนเจ้าของพระพุทธรัตนสถาน เพราะตอนที่พัง เราให้เอาสังกะสีมามุงคลุมไว้...” 
ในหลวงทรงตรัสถึงสถานที่แห่งนี้ เมื่อครั้งนำสังกะสีมาคลุมสมัยได้รับความเสียหายจากลูกระเบิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนชำรุดไปทั้งหลัง

เล่าต่อเนื่องถึงสถานที่ในเขตพระราชฐาน ที่เดิมประดิษฐานพระแก้วขาว มาถึงปัจจุบันก็ยังเป็นสถานแห่งความผูกพันและความตั้งใจของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙

ถ้าเราเคยได้ไปวัดพระแก้ว สถานที่แห่งนี้นั้นอยู่ทางทิศใต้ เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย พื้นและผนังด้านนอกประดับด้วยหินอ่อน ตกแต่งด้วยศิลปกรรมงามอย่างไทยดั้งเดิม (เกรงว่าจะไม่ใช่ส่วนที่ทุกคนเข้าได้)

พระพุทธรัตนสถานสร้างขึ้นในสมัย ร.๔ แล้วเสร็จใน ร.๕ เกิดจากความศรัทธาของทั้ง ๒ พระองค์ที่มีต่อพระแก้วขาว มีการประดับอย่างวิจิตรพิสดาร และดับกระจกสีขาวเลื่อมที่ลายเพดานเหมือนอัญมณีบุษยรัตน์

ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงอภิเษกสมรสก็เสด็จมาทรงสักการะพระเก้าขาวในธรรมเนียมสากล... 
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระนครครั้งใด รัชกาลที่ ๗ ก็ต้องเชิญมาสักการะเสมอ...
นี้เป็นเพียงตัวอย่างพลังศรัทธาของพระมหากษัตริย์ ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โดยเฉพาะเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเชษฐาพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จนิวัติประเทศไทย ครั้งนั้นได้ประทับที่พระที่นั่งบรมพิมาน ห้องทรงประทับนั้นมีพระบัญชรที่เห็นพระพุทธรัตนสถานได้ชัดเจน 

“ ตั้งแต่สมัยประทับอยู่ ณ พระที่นั่งพระบรมพิมาน สมัยเด็ก ๆ อยู่ห้องนั้น ทุกวันโผล่หน้าต่างออกมา ก็เห็นสังกะสีมุงหลังคาคลุมพระพุทธรัตนสถานจนฝังใจ…” 

พระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระกระแสรับสั่งซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังภายใน ที่เรียกได้ว่ามีความเป็นเอกลักษณ์อย่างสมัยรัชกาลที่ ๙ คือคงความเป็นไทยดั้งเดิมแต่ใช้เทคนิคอย่างฝรั่ง มีความละเอียดตามประวัติศาสตร์ครบถ้วน 
...และที่สำคัญ มีความใส่พระทัยของพ่อหลวงอยู่ในนั้นอย่างแท้จริง และหาที่ไหนเปรียบได้






----------------------------------------------------------------------------------------------------

พ ร ะ แ ก้ ว ข า ว รัตนะแห่งพระราชฐานชั้นใน คู่เมืองพระแก้วมรกต

ใครไม่เคยรู้ว่ามีองค์แก้วสีขาวด้วย!!!!! ยกมือทางนี้เลยค้าาาา!!

แกะเปิดเจอหนังสือเล่มนี้รู้สึกสาแก่ใจตัวเองมากค่ะ !!

เริ่ม...
พระวิหารพระพุทธรัตนสถาน ในเขตพระบรมมหาราชวัง คือสถานที่ที่ผูกพันกษัตริย์แห่งรพะบรมราชจักรีวงศ์ไว้หลายพระองศ์ โดยเฉพาะเป็นที่ไว้ฝีมืองานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๙ 

ซึ่งเหตุผลเริ่มเดิมทีคือเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย" หรือพระแก้วขาว

หรือเรียกว่าเป็นพระแก้วประจำรัชกาลที่ ๒ เป็นศิลปะล้านนา ทำจากแก้วผลึกใสบริสุทธิ์ เรียกว่าเพชรน้ำค้าง มีความสำคัญเทียบได้กับพระแก้วมรกตเลยดีเทียว ....เพราะปกติเมื่อมีราชพิธีใหญ่ ๆ ก็จะอัญเชิญพระแก้วมรกตเป็นประธาน...จนรัชกาลที่ ๓ ได้ประดิษฐานและตกแต่งแท่นฐานอย่างวิจิตรอลังการ ทีนี้จึงไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหนอีกต่อไป ถึงคราพระแก้วขาวออกโรงเป็นประธานแทน

แล้วยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงคำนึงและกตัญญูถึงรัชกาลที่ ๒ ที่ว่าแก้วผลึกนี่ งามหาไม่มีที่เปรียบที่สู้ จึงได้สร้างพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเพื่อประดิษฐานไว้อย่างสง่างาม... จนมาถึงปัจจุบันนั้น พระแก้วขาวประดิษฐานที่พระที่นั่งอัมพร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ สร้างพระที่นั่งแล้วเสร็จ

ตำนานกล่าวว่า พระแก้วขาวพบโดยพรานทึงและพรานเทิง ที่ในป่าเขตจำปาศักดิ์ ทั้ง ๒ ได้บนบานขอให้ล่าสัตว์ได้มากๆ และแล้วก็สมหวังดังขอจึงได้คิดนำมาเก็บไว้เองที่บ้าน จนระหว่างทางนำกลับ ใช้หน้าไม้ผูกไว้ทำให้กระทบเข้ากับหน้าไม้ พระกรรณขวาจึงหัก (หู ซ้ายจากภาพค่ะ) ...ความเป็นมงคลรู้ไปถึงเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ไชยกุมาร จึงได้อัญเชิญมาไว้ในเมือง ต่อมาจำปาศักดิ์ตกเป็นเมืองขึ้นกรุงธนบุรี มีการผลัดเปลี่ยนเจ้าเมืองเป็นเจ้าหน้า... เมื่อเจ้าหน้าถึงแก่พิราลัย ร.๒ จึงส่งข้าหลวงเชิญของพระราชทานเพลิงศพขึ้นไป ทำให้ข้าหลวงได้พบและเห็นว่าเป็นของวิเศษ จึงได้ทำเรื่องถวายแก่ ร.๒ ...พระองค์ทรงโสมนัสด้วยศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ออกขบวนพยุหยาตราใหญ่ไปรับด้วยตนเองเมื่อพระแก้วขาวล่องมาถึง เมืองนนทบุรี ...หลังจากนั้นก็ประดิษฐานไว้ที่พระบรมมหาราชวัง เพื่อหวังเป็นมิ่งขวัญแก่กษัตริย์ทุกพระองค์สืบมา...
(พยายามย่อสุดแล้วพระเจ้าค่าาาๆๆๆๆ)

"...พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยพระองค์นี้ เชิญมาแต่เมืองจำปาศักดิ์ ถึงกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยา ปีมะแม ตรีศก ศักราช ๑๑๗๓ เป็นปีที่ ๓ ของพระราชลัญจกรนี้ ประจำแผ่นดิน..." 
-ข้อความจากจารึกแผ่นทองคำด้านหลังฐานจำหลักลาย


----------------------------------------------------------------------------------------------------


 
เอกลักษณ์ ศิ ล ป ก ร ร ม แห่งปัจจุบันสมัยที่ทรงคุณค่า จารึกลึกลงไปในเขตพระราชฐาน

(ปกติเราเรียนรู้แต่งานประวัติศาสตร์ แต่ก็อย่าละเลยปัจจุบันที่ล้ำค่านะเจ้าฮะ)
ตามมาดูจุดกำเนิดศิลปกรรมของพ่อหลวงแบบต่อเนื่อง ^0^

ยิ่งได้อ่านช้าๆก็ยิ่งซึมซับคุณค่าที่พระองค์ท่านทรงการงานอย่างเข้าใจละเอียดละออ ใส่ใจ ...ไม่เพียงแต่นั้นยังเห็นถึงความรักที่พระองค์มีต่อคนไทย ผ่านศิลปกรรมไทยงานนี้ 
...เพราะเอกลักษณ์นี้จะยังยื่นคู่คนไทยไปชั่วลูกหลาน แม้ในยามที่พระองค์ท่านไม่ได้อยู่กับคนไทยแล้วก็ตาม

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธธรัตนสถานล้วนเกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริงเพราะทรงสนพระราชหฤทัยในงานจิตรกรรมไทยอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าศิลปกรรมนั้นมีความหมายมากกว่าการวาดภาพแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นราชอาณาจักรไทย ประชาชนไทย เกียรติศักดิ์ ตำนาน
และแน่นอน คือความรัก ความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวกันยังอยู่ที่นี่ความดีงามของเรายังอยู่ที่นี่ อย่าได้ลืมเลือน....

การได้เห็นได้อ่านพระราชกระแสนี้ก็รู้สึก ยินดี และชื่นใจ วาบบบขึ้นมา
พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้รักษาลักษณะจิตรกรรมไทยให้สอดคล้องกับจิตรกรรมฝาผนังของเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๔
"...ควรทำเป็นรูปภาพเกี่ยวกับพระพุทธรัตนสถานที่เป็นแบบเดียวกัน สไตล์เดียวกันกับภาพเขียนของเดิม หากจะมีอะไรสมัยใหม่ก็ให้เข้ากัน แต่ต้องเป็นแบบโบราณ..."

และมีกระแสรับสั่งตอนหนึ่งที่ได้ไปศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ด้วยพระองค์เอง
"...ได้ไปดูรามเกียรติ์วัดพระแก้วหลายรอบ เข้าใจดีขึ้นมาก นี่ก็คิดว่า เข้าใจภาพจิตรกรรมไทยขึ้น... คือเค้าให้ดูข้างบนใหญ่ ส่วนข้างล่างเล็ก เมื่อดูทั้งหมดแล้ว เหมือนดูเป็นสามมิติ..."

ทรงอนุรักษณ์ของโบราณ แต่ก็อนุโลมตามเหมาะสมของกาลเวลา
"...ต้องให้กลมกลืนกับภาพข้างบน ซึ่งไม่ใช่เบิร์ดอายวิวแท้ ถ้าข้างบนมีเมฆ ข้างบนของภาพนั้นอย่างไรก็ต้องมีฟ้า...ทำให้เหมือนกัน กลมกลืนกันทางสไตล์ และทางสี........ "

ใช้รูปแบบกายวิภาคตามแบบตะวันตกในงานที่วาดขึ้นใหม่นี้
"...รูปฝาผนังแบบเดิมเป็นคลาสสิก จะไม่เขียนรายละเอียดตามหน้าคน เขียนใหม่ต้องทำเป็น Stylized (เหมือนจริง) เป็นจิตรกรรมสมัยใหม่สองมิติ มีการตัดเส้น...."

ได้รื้องานเก่า แล้วทำภาพใหม่ขึ้น สรุปแล้วทรงพอใจอย่างมาก ^^
"...การเขียนภาพนี้ก็ต้องไปแก้ไขกันใหม่ ฉันก็เกรงใจอยู่ แต่รักมากที่โบสถ์นี้สวยมาก ถ้าได้รูปที่มีความหมายก็จะสวยมาก นี่ฉันเห็นแล้วพอใช้ขึ้นมาก ...ดูแล้วไม่สมัยโบราณเกินไป และใหม่เกินไป..."

นี่เป็นพระราชดำริให้มีการผสมผสานระหว่างลักษณะของศิลปกรรมแบบไทยประเพณีและศิลปกรรมแบบตะวันตกซึ่งทำให้เกิดภาพฝาผนังแบบใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทย แต่ดูทันสมัยในท่วงที.......




----------------------------------------------------------------------------------------------------


 
ความถูกต้องของประวัติศาสตร์บนจิตรกรรมที่ทำให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและความเข้าใจ

เป็นที่พึ่งของกองจิตรกรรมได้มากโข
ทรงมีความตั้งใจที่จะให้งานชุดนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญสืบไป จึงทรงเอาใจใส่รายละเอียดอย่างมากกกก อาทิเช่น




เครื่องแต่งกาย
สำคัญมากในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคได้อย่างเด่นชัด ทรงให้ทีมงานไปศึกษาฉลองพระองค์ของรัชกาลที่ ๔ สายสะพายและความถูกต้องของสี โดยการศึกษาจากภาพถ่าย

รวมไปถึงฉลองพระองค์ของพระองค์เองเมื่อเข้าร่วมพิธีเปิดสะพานปฐมราชานุสรณ์ในครั้งนั้นด้วย 
แม้แต่เครื่องแต่งกายของทหารก็ต้องศึกษาอย่างละเอียด
“…ธงไตรรงค์ตรงกลางต้องมีช้าง… ด้านหน้าเป็นรัชกาลที่ ๖ ด้านหลังเป็นช้างล้อมรอบด้วยคาถาพาหุง ธงนี้มีประวัติ…ทหารรักษาพระองค์รัชกาลที่เก้าตรงกลางมีช้างอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม…ทหารอาสาสมัครเก่า สมัยรัชกาลที่ ๖ ถามคนเก่าว่า มีเครื่องแบบหรือธงไตรรงค์เป็นอย่างไร…”



การแต่งกายของประชาชนก็เป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ ถี่ถ้วน โดยให้กรมศิลปกรตรวจสอบการแต่งกายของประชาชนที่เคยมาเข้าเฝ้า
“…ไปสัมภาษณ์พวกที่เคยรับเสด็จ ก็จะใช้ได้ มีพวกที่เป็นพ่อค้าจีนรอรับเสด็จ ไปถามคุณอุเทน ป่อเต๊กตึ๊ง …การแต่งกายของชาวจีน กางเกงกุยเฮง กางเกงแพร ก็ต้องมีคนอมยาเส้นแบบจีน ไม่ต้องมีกางเกงลีวายส์ ตอนนั้นยังไม่มี ไปปรึกษาพวกป่อเต็กตึ๊ง ถือว่าเขาสำคัญ…”
การพระราชทานกระแสเกี่ยวกับการแต่งกายนี้ ทำให้ที่เขียนขึ้นมีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์



ในเรื่องยานพาหนะก็สำคัญไม่แพ้กัน

เพราะไม่เพียงแต่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของสมัยยังเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่สามารถบอกเรื่องราวต่างๆได้อีกมากเพราะบางพาหนะนั้นไม่ได้ใช้งานแล้ว กลายเป็นของหายาก พระองค์จึงกำชับให้กรมศิลปากรกรศึกษาความถูกต้องให้มาก ไม่ว่าจะรถหรือเรือ

“…ขอให้ถามทหารเรือว่าเรือสร้างเมื่อไหร่ ต้องทำให้ใกล้เคียง แต่ทำเรือให้เป็นสมัยใหม่ก็ไม่เป็นไร ต่อไปจะต้องมี อันนี้ดูโบราณกว่าหน่อย แต่ก็ใช้ได้ เรือรบควรใส่เรือเสือทะยานชล ไม่ต้องจินตนาการ เอาจริงๆ เสือทะยานชล มิฉะนั้น ก็เอาเรือสุโขทัย… เรือนี่สีเทาปืนที่อยู่ข้างบน ผู้ยิงเข้าไปอยู่ในห้องบัญชาการ ให้ไปถามจากกองทัพเรือ…”
ยานพาหนะที่ปรากฏบนฝาผนังล้วนเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าจะอากาศยาน รถไฟ และรถยนต์เป็นสิ่งที่พ้นสมัยไปแล้ว แต่ล้วนเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง จึงโปรดเกล้าให้ข้อมูลต่างๆอย่างละเอียด





มาถึงสถาปัตยกรรม

อาคารและสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในภาพฝาผนังเป็นส่วนที่โดดเด่นที่สุดเพราะว่าเป็นภาพนำสายตาและบอกเล่าเรื่องราวที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ถึงแม้ว่าพุทธรัตนสถานจะเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แต่เพราะสถาปัตยกรรมที่อยู่รายรอบได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
พระองค์ก็ยังทรงให้ความสำคัญกับรายละเอียดเพราะว่าเป็นอาคารหลักที่ปรากฏอยู่ในทุกภาพ
“…เส้นโค้งที่เห็นนั้นไม่ใช่ไทย เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมนี้ต้องถามอธิบดี (พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น)…”
แม้แต่มุมมองของภาพที่ทอดพระเนตรจากห้องที่ประทับในพระที่นั่งบรมพิมานก็ให้รายละเอียดอย่างครบถ้วน
รวมไปถึงอาคารสิ่งก่อสร้างรอบๆ
“…ที่อยู่บนกำแพงรูปร่างอย่างนี้หรือ (หมายถึงใบเสมา) …รูปใบระกาตลอดแนวเส้น ช่องไฟใบระกา เป็นอย่างนี้หรือ ถ้าเห็นเป็นอย่างนี้ ก็เอาตามนี้เดี๋ยวจะผิด เพอร์สเปคทีฟ และภาพต้องเป็นที่แบบโบราณ…”



วัฒนธรรมประเพณี
“…ศึกษาข้อมูลพระพุทธรูปบูชาว่าเป็นสมัยใด…”
รวมถึงเครื่องแต่งในการพระราชพิธี
กระชับแม้แต่ลักษณะการใช้พัดของพระสงฆ์ที่มาเข้าร่วมในพระราชพิธี
“…ตาลปัตรพัดยศเป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่า เพราะพัดยศในสมัยนี้เปลี่ยนไป นี่ต้องศึกษาดี ๆ ไม่เช่นนั้น ผู้ใหญ่ที่เขาเคยทำจะว่าได้ อย่างฉันนี่ ๗๔ ที่จริงเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ความรู้สึกยังเป็นเด็ก เพราะไม่รู้เรื่อง นี่ละผู้เฒ่า…”
ยังรวมไปถึงลักษณะที่เหมาะสมของช้างเผือกในภาพอีกด้วย ไม่ว่าตะลักษณะช้าง สีช้าง


----------------------------------------------------------------------------------------------------



นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งค่ะที่พระองค์พระราชทานข้อชี้แนะในการเขียนงานจิตรกรรมนี้ ซึ่งเหล่าถวายการเขียนงานต้องเข้าเฝ้าพระองค์หลายครั้ง แต่พระองค์ก็โปรดให้เข้าเฝ้าทุกครั้ง และทรงภูมิในผลงานอย่างมาก
(ข้าพระพุทธเจ้าก็ภูมิใจยิ่งพระเจ้าค่ะ ^^)

พระองค์พระราชทานข้อชี้แนะ แก้ไขปรับปรุงการเขียนภาพร่วมกับศิลปิน มีพระราชดำริว่า 
“…ภาพเขียนไม่จำเป็นต้องให้เหมือนของจริง… แต่ต้องให้มีความรู้สึก”

ในครั้งสุดท้ายที่กรมศิลปากรได้เข้าเฝ้า ยังได้ทรงเล่าถึงพระอัจฉริยภาพของพระบรมวงศ์แก่กรมศิลปากร ว่า
“…ทีหลังต้องหาเวลาคุยกัน ฉันก็เป็นศิลปินเหมือนกัน เราก็เป็นศิลปิน สมเด็จพระเทพฯ เป็นศิลปิน ทำทุกอย่างเหมือนกัน บางคนศิลปินพูดลำบาก พระบรมฯ นี่ก็ศิลปิน แกะชอล์ก และมีคนเอาไปทิ้ง โกรธมาก สิริภาเก่ง เขาเฟื่อง เขามีความคิดเฟื่องมาก ตอนแรกอยากเรียนโบราณคดี แต่ต้องรู้หลายอย่าง วิทยาศาสตร์ เคมี เลยตัดสินใจเรียนเขียนรูป…”


----------------------------------------------------------------------------------------------------









สรุปลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้

เป็นการแสดงออกในลักษณะการมองแบบตานกมอง (Bird’s eye view)และมีการผสมผสานวิธีการนำเสนอในแผนกรรมวิธีแบบไทยประเพณีที่พัฒนามาสู่การใช้ เส้นเดิน ในแบบทัศนียวิทยาของตะวันตกโดยไม่มีกำหนดระยะ บรรยากาศ สัดส่วนของทั้งสถาปัตยกรรม ต้นไม้ ธรรมชาติ และกลุ่มบุคคล... โดยภาพรวมมีความประสานกลมกลืนอย่างมีเอกภาพ

จิตรกรรมฝาผนังมีจุดเด่นที่การนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับอาคารพระพุทธรัตนสถาน เหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชกาลที่ ๙ ปัจจุบัน เป็นการรวบรวมเหตุการณ์สำคัญในรัชกาลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอาคาร เป็นได้ว่าที่นี้เป็นทั้งจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่รวบรวมเหตุการณ์พระราชกรณียกิจสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นการแสดงวิวัฒนาการ การพัฒนาและสร้างสรรค์ของจิตรกรรมฝาผนังไทย 

จิตรกรรมยังสอดคล้องกับพระราชดำริและเป็นลักษณะวิธีของจิตรกรรมไทยในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุบัน ...อันเป็นแบบอย่างของกิจกรรมไทยในแนวทางศิลปะไทยร่วมสมัยปัจจุบัน ผสมผสานแนวความคิด กรรมวิธี เนื้อหาสาระไปถึงการจัดวางภาพที่มีรากฐานข้อมูลจากงานศิลปะในแบบไทยประเพณีผสมบูรณาการกับศิลปะในแบบแผนวิธีตะวันตกอย่างมีเอกภาพ...



เติมนกบินลงไปด้วยเพราะจะได้มีชีวิตชีวามากขึ้น

----------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเลข ๑ คือ พระพุทธรัตรสถาน ที่จารึกจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๙ ไว้ค่ะ (เรืองแสงๆๆ)

 
 
#ทรงพระเจริญ 
#ใครไม่เห็นเราเห็น #ใครไม่รักเรารัก 
#ชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ #ความเป็นเอกภาพของไทย
 
 
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Varin the tale
นอกจากการทำสิ่งที่ต้องทำ เพื่อตัวเองและตอบแทนคุณผู้มีพระคุณ... เป้าหมายกว้างใหญ่ของทรายสีนั่นคือ การค้นพบและขยายเรื่องราวเอกลักษณ์อันเฉพาะ (Art of culture and talented) ของชาวไทยให้มีความภูมิใจและเด่นชัดในระดับนานาชาติ... Branding ประเทศไทยให้เป็น Land of talented... อย่างน้อยในฐานะคนไทยที่รักในหลวง ติดตามต่อได้ที่ เพจ Run The World

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles